เชียงราย - ไข้เลือดออกระบาดหนัก ล่าสุดพบผู้ป่วยแล้ว 116 คน เฉพาะเดือนพฤษภาคม 52 มีผู้ป่วยถึง 73 คน แถมมีผู้ป่วย “ชิคุนกุนยา” อีก 2 ราย
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า จากกรณีที่ได้เกิดฝนตกชุกในทั่วทุกพื้นที่ของ จ.เชียงราย ติดต่อกันมาหลายวันปรากฎว่าได้ทำให้ปัญหาเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากยุงตามมาเนื่องจากทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะไข้เลือดออกซึ่งเคยระบาดหนักใน จ.เชียงราย ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะ อ.แม่จัน ทั้งนี้ พบว่าทั่วทุกอำเภอมีการติดเชื้อไข้เลือดออกในเดือน พ.ค.เพียงเดือนเดียวกว่า 73 ราย นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาซึ่งมีพาหะนำโรคเป็นยุงเช่นเดียวกันแล้วจำนวน 2 ราย แต่อาจติดมาจากพื้นที่ภาคใต้แล้วไปป่วยในภาคเหนือ ขณะที่ยอดผู้ป่วยไข้เลือดออกรวมทั้งจังหวัดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนสิ้นเดือน พ.ค.พบว่ามีสูงถึง 116 ราย
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่าจากฝนตกชุกทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกระบาดโดยพบมากในพื้นที่เดิมที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อนคือหมู่บ้านซาเจ๊ะ ต.แม่ไร่ อ.แม่จัน มีผู้ป่วยในปัจจุบันจำนวน 62 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 4-18 ปีหรือวัยเด็กถึงวัยหนุ่มสาว ปัจจุบันผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแม่จันแล้วซึ่งก็ต้องรักษากันตามอาการต่อไป ส่วนมาตรการป้องกันนั้นได้กำชับให้ทางโรงพยาบาลทุกแห่งร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้ออกทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งเรื่องการป้องกันแหล่งเพาะพันธุ์ การเฝ้าระวังอาการ ฯลฯ
นายแพทย์ชำนาญกล่าวว่า นอกจากนี้ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งเร่งออกฉีดหมอกควันทำลายเชื้อไข้เลือดออกโดยดำเนินการแบบปูพรมทั่วทุกพื้นที่ไม่มีเว้น เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดให้ได้ควบคู่ไปกับการรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้ได้ผล สำหรับพื้นที่หมู่บ้านซาเจ๊ะนั้นเคยเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกมาแล้วในปี 2549 ซึ่งช่วงนั้นมีการพบผู้ป่วยในพื้นที่กว่า 1,000 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ดังนั้นในปีนี้จึงได้พยายามดำเนินการเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดกรณีซ้ำรอยขึ้นมาอีก
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงรายกล่าวอีกว่า ขอเตือนไปยังประชาชนโดยเฉพาะเด็กที่ต้องนอนหลับในตอนกลางวันจงหาทางป้องกันอย่าให้ยุงกัดและหากมีอาการป่วยให้รีบมาพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อ เพราะปัจจุบันในพื้นที่เชียงรายนอกจากพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วยังพบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาอีกด้วยจึงจำเป็นต้องมีการแยกแยะเพื่อการรักษาให้ถูกทางนั่นเอง