xs
xsm
sm
md
lg

ไข้เลือดออก-ฉี่หนูระบาดหนักอีสานใต้ พบผู้ป่วยกว่า 300 รายตายแล้ว 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่ ฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงลาย พาหะโรคไข้เลือดออก ในชุมนุมเทศบาลนครนครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา -ไข้เลือดออก-ไข้ฉี่หนู ระบาดหนักอีสานใต้ พบผู้ป่วยรวมแล้วกว่า 300 ราย ตาย 1 ราย โคราชป่วยไข้เลือดออกมากสุด ขณะที่สุรินทร์ป่วยไข้ฉี่หนูสูงสุด ด้าน สคร.5 โคราช เตือน ปชช.ระวังเพราะป่วยได้ทุกเพศทุกวัย แนะหมั่นกำจัดลูกน้ำยุงลายพาหะนำโรคโดยใช้หลัก 4 ป. และก่อนย่ำโคลนให้สวมรองเท้าบู๊ท พบอาการผิดปกติให้พบแพทย์ด่วน

 นายแพทย์สมชาย ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้ในพื้นที่สาธารณสุขเขต 14 ประกอบด้วย 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง คือ นครราชสีมา, สุรินทร์,ชัยภูมิ และ บุรีรัมย์ พบการระบาดของโรค 2 ชนิดที่น่าเป็นห่วง คือ โรคไข้เลือดออกและโรคเลปโตสไปโรซีส หรือ ไข้ฉี่หนู มีผู้ป่วยแล้วกว่า 300 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยโรคไข้เลือดออกจากรายงานทางระบาดวิทยากรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. จนถึงล่าสุด (9 พ.ค. 52) มีรายงานผู้ป่วยด้วยไข้เลือดออกแล้วจำนวน 246 ราย แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด

สำหรับจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ นครราชสีมา 86 ราย, สุรินทร์ 59 ราย, ชัยภูมิ 56 ราย และบุรีรัมย์ 45 ราย โรคไข้เลือดออกสามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย หากป่วยแล้วอาจถึงตายได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาการสำคัญของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงลอยอยู่ประมาณ 2- 7 วัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีจุดแดงๆ ตามลำตัว แขน ขา บางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และเบื่ออาหาร ในรายที่รุนแรงจะกระสับกระส่าย มือเท้าเย็นเนื่องจากภาวะช็อค ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเสียชีวิตได้

โรคไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้โดย อาศัยความร่วมมือของชุมชน ในการกำจัดลูกยุงลาย ตามภาชนะต่างๆ ทั้งภายในบ้าน และ รอบบ้าน โดยใช้หลัก 4 ป. คือ 1.ปิดฝาโอ่งหรือภาชนะบรรจุน้ำให้มิดชิด ไม่ให้ยุงลายไปวางไข่ได้ 2.เปลี่ยนน้ำ ในภาชนะใส่น้ำที่ไม่มีฝาปิดทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรของยุงลาย 3.ปล่อยปลากินลูกน้ำยุงลาย ในภาชนะที่ไม่มีฝาปิด และ 4.ปรับปรุงบริเวณรอบๆ บ้านให้สะอาดอยู่เสมอ และที่สำคัญลูกหลานนอนกลางวัน ให้ก้างมุ้งทุกครั้ง ป้องกันยุงลายกัด

นพ.สมชาย กล่าวอีกว่า สำหรับโรคเลปโตสไปโรซีส หรือ “โรคไข้ฉี่หนู” จากรายงานทางระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ถึงล่าสุด (9 พ.ค. 52) พบผู้ป่วย แล้วจำนวน 124 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ สุรินทร์ 61 รายเสียชีวิต 1 ราย, บุรีรัมย์ 45 ราย, ชัยภูมิ 10 ราย และนครราชสีมา 8 ราย

โรคไข้ฉี่หนูนี้เป็นโรคที่แพร่ระบาดในช่วงฤดูฝนจนถึงต้นฤดูหนาว มีหนูเป็นตัวแพร่เชื้อโรคที่สำคัญ ติดต่อโดยการสัมผัสกับปัสสาวะสัตว์นำโรคโดยตรง หรือติดทางอ้อมจากแหล่งน้ำ ทุ่งนา น้ำท่วมขังที่มีเชื้อโรคปนอยู่ เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลตามร่างกาย ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อมาก ปวดน่อง ตาแดง ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้

สำหรับการป้องกันโรคทำได้โดยการสวมรองเท้าบูทกันน้ำทุกครั้ง หากต้องลุยน้ำย่ำโคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีบาดแผล หากจำเป็นต้องลงแช่น้ำในคูคลองไม่ควรแช่น้ำนาน และเมื่อขึ้นจากน้ำแล้วต้องรีบอาบน้ำให้สะอาดโดยเร็ว ปกปิดอาหารไม่ให้หนูปัสสาวะรด และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสกับสัตว์ หากมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการภายหลังสัมผัสสัตว์ หรือลุยน้ำ ย่ำโคลน ภายใน 2-14 วัน ต้องรีบพบแพทย์ หรือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น