น.พ.สมชาย ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคเลปโตสไปโรซีส หรือไข้ฉี่หนูว่า จากการรายงานของทางระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคพบว่า ในพื้นที่สาธารณสุขเขต 14 ได้แก่ จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2552 มีรายงานผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรซีส จำนวน 124 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย คือที่ จ.สุรินทร์ โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ จ.สุรินทร์ พบผู้ป่วย 61 ราย เสียชีวิต 1 ราย รองลงมาคือบุรีรัมย์ 45 ราย ชัยภูมิ 10 ราย และนครราชสีมา 8 ราย ซึ่งโรคไข้ฉี่หนู เป็นโรคที่มักมีการแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน จนถึงต้นฤดูหนาว โรคนี้มีหนูเป็นตัวแพร่เชื้อโรคที่สำคัญ ติดต่อโดยการสัมผัสกับปัสสาวะสัตว์นำโรคโดยตรง หรืออาจติดจากทางอ้อมจากแหล่งน้ำ ทุ่งนา น้ำท่วมขังที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ ซึ่งเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลตามร่างกาย ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อ ปวดน่อง ตาแดง ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ โรคเลปโตสไปโรซีส สามารถป้องกันได้ โดยการสวมรองเท้าบู๊ทกันน้ำทุกครั้ง หากต้องลุยน้ำย่ำโคลน โดยเฉพาะเมื่อมีบาดแผล หากจำเป็นต้องลงแช่น้ำในคูคลอง ไม่ควรแช่น้ำเป็นระยะเวลานาน และเมื่อขึ้นจากน้ำ ต้องรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายโดยเร็ว รวมถึงควรปกปิดอาหารไม่ให้หนู ซึ่งเป็นตัวแพร่เชื้อปัสสาวะรด และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสกับสัตว์ หากมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการหลังสัมผัสกับสัตว์หรือลุยน้ำย่ำโคลน ภายใน 2-14 วัน ต้องรีบพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที
ทั้งนี้ โรคเลปโตสไปโรซีส สามารถป้องกันได้ โดยการสวมรองเท้าบู๊ทกันน้ำทุกครั้ง หากต้องลุยน้ำย่ำโคลน โดยเฉพาะเมื่อมีบาดแผล หากจำเป็นต้องลงแช่น้ำในคูคลอง ไม่ควรแช่น้ำเป็นระยะเวลานาน และเมื่อขึ้นจากน้ำ ต้องรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายโดยเร็ว รวมถึงควรปกปิดอาหารไม่ให้หนู ซึ่งเป็นตัวแพร่เชื้อปัสสาวะรด และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสกับสัตว์ หากมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการหลังสัมผัสกับสัตว์หรือลุยน้ำย่ำโคลน ภายใน 2-14 วัน ต้องรีบพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที