xs
xsm
sm
md
lg

อุบลฯ ปล่อยกุ้งก้ามกราม 40 ล้านตัว แก้ความยากจนชาวประมงริมน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัดและชาวบ้านหมู่บ้านแพง ต.สว่าง อ.สว่างวีระวงศ์ ปล่อยพันธุ์ยี่สก ปลานิล ปลาไน จำนวน 20,000 ตัว พันธุ์กุ้งก้ามกราม 4 ล้านตัว จากจำนวนกุ้งก้ามกรามที่ปล่อยทั้งหมดในปีนี้ 40 ล้านตัว ตามโครงการกุ้งก้ามกรามแก้จน ซึ่งเป็นแผนฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้แม่น้ำมูล แม่น้ำชี และลำน้ำสาขาของจังหวัดอุบลราชธานี
อุบลราชธานี-จังหวัดอุบลราชธานีปล่อยลูกกุ้งก้ามกราม 40 ล้านตัว กระตุ้นธรรมชาติตามลำน้ำฟื้นตัว ใช้แก้ปัญหาความยากจนชาวประมงริมน้ำ ปัจจุบันมีอัตราการจับกุ้งก้ามกรามขายร้อยละ 7.6 ต่อวันต่อคน มีรายได้วันละ 150-300 บาท

วันนี้(23 พ.ค.)นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัดและชาวบ้านหมู่บ้านแพง ต.สว่าง อ.สว่างวีระวงศ์ ปล่อยพันธุ์ยี่สก ปลานิล ปลาไน จำนวน 20,000 ตัว พันธุ์กุ้งก้ามกราม 4 ล้านตัว จากจำนวนกุ้งก้ามกรามที่ปล่อยทั้งหมดในปีนี้ 40 ล้านตัว ตามโครงการกุ้งก้ามกรามแก้จน ซึ่งเป็นแผนฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้แม่น้ำมูล แม่น้ำชี และลำน้ำสาขาของจังหวัดอุบลราชธานี

สำหรับการปล่อยกุ้งก้ามกรามที่บ้านแพง ต.สว่าง ซึ่งเป็นหมู่บ้านประมงริมแม่น้ำเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำใหญ่ที่สุดของจังหวัด ถือเป็นแห่งสุดท้ายจากจำนวน 6 จุด ในการปล่อยสัตว์น้ำสร้างความสมบูรณ์ให้ลำน้ำประจำปี 2552

นายสมศักดิ์ เขตสมุทร ประมงจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการเพิ่มปริมาณพันธุ์สัตว์น้ำและพันธุ์กุ้งก้ามกรามในแม่น้ำมูลและลำน้ำสาขาตั้งแต่ปี 2546-2550 โดยช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีการปล่อยพันธุ์กุ้งก้ามกรามพันธุ์ปลาลงสู่แม่น้ำมูลปีละกว่า 40 ล้านตัว พบลูกกุ้งมีอัตราการรอดชีวิตหลังการปล่อยสูงกว่าพันธุ์สัตว์น้ำชนิดอื่น และชาวประมงมีอัตราการจับกุ้งก้ามกรามที่โตเต็มที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 1.5-2 ขีดขึ้นมาจำหน่ายคิดเป็นร้อยละ 7.6 ต่อคนต่อวัน ทำให้ชาวประมงริมแม่น้ำมีรายได้จากการจับกุ้งก้ามกรามขายรายละ 150-300 บาทต่อวัน

สำหรับกุ้งก้ามกรามปัจจุบันเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของจังหวัด โดยกุ้งก้ามกรามที่มีอายุประมาณ 6-8 เดือน จะมีน้ำหนักเฉลี่ย 1-2 ขีด ปัจจุบันมีราคาซื้อขายกิโลกรัมละ 300-450 บาทตามขนาดของตัวกุ้ง ส่วนการปล่อยพันธุ์กุ้งก้ามกรามในปี 2552 ได้ขยายพื้นที่การปล่อยกุ้งก้ามกรามในแม่น้ำชี และลำน้ำเซบาย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล เพื่อเพิ่มปริมาณพันธุ์กุ้งก้ามกรามให้มากยิ่งขึ้นตามลำน้ำสาขาเหล่านั้นด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น