ศูนย์ข่าวศรีราชา - รมว.แรงงาน ร่วมงานสัมมนา สมาคมญี่ปุ่นในจังหวัดชลบุรี-ระยอง เน้นวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ต้องจับมือร่วมกันแก้ไข
วันนี้ (22 พ.ค.) ที่โรงแรมเดอะซิตี้ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานสัมมนา “การบริหารแรงงานในภาวะวิกฤตและการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานในกรณีที่มีการเลิกจ้าง” โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารชาวญี่ปุ่นในพื้นที่ภาคตะวันออกและใกล้เคียง ร่วมสัมมนาเป็นจำนวนมาก
นายไพฑูรย์ กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้กำหนดนโยบายด้านแรงงาน โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งได้เสนอให้การแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างเป็นวาระแห่งชาติ และดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเลิกจ้าง วางงาน ภายใต้กรอบมาตรการ 3 ลด 3 เพิ่ม ได้แก่ ลดการเลิกจ้าง ลดการเคลื่อนไหวย้ายแรงงาน ลดค่าครองชีพของลูกจ้างและผู้ว่างงาน เพิ่มการจ้างงานและตำแหน่งงานเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพและเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน ภายใต้มาตรการดังกล่าว
ทางกระทรวงแรงงาน ได้สร้างอาชีพให้แก่ผู้ว่างงาน ส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ บรรจุตำแหน่งวางงานให้แก่ผู้ว่างงาน ดำเนินโครงการต้นกล้าอาชีพ ส่งเสริมสภาพคล่องแก่สถานประกอบกิจการตามโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง
นายไพฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือของทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การลดการทำงานล่วงเวลา ลดชั่วโมงการทำงาน เพื่อรักษาลูกจ้างคนงานไว้ในระบบจ้างงาน การให้ลูกจ้างพักการทำงานชั่วคราว โดยได้รับค่าจ้าง 75% และลูกจ้างคนงานยังไม่ขาดความเป็นลูกจ้าง ส่วนทางด้านกระทรวงฯที่ให้การสนับสนุนการดำเนินมาตรการในการรักษาลูกจ้างคนงานไว้ในระบบ คือ การลดอัตราสมทบที่ทุกคนนำส่งกองทุนประกันสังคมทุกๆ เดือน
ขณะนี้กระทรวงได้พิจารณาว่ามาตรการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม จากเดิมร้อยละ 5 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 3 ของค่าจ้าง โดยเป็นการลดอัตราเงินสมทบเฉพาะในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างผู้ประกันตน โดยทางรัฐบาลยังคงจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในอัตราเดิม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องและบรรเทาภาระของนายจ้างในการรักษาลูกจ้าง โดยโครงการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนใดๆ ทั้งสิ้น
นายไพฑูรย์ กล่าวว่า โครงการนี้คาดว่า จะสามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ได้ประมาณเดือน ก.ค.นี้ โดยมีระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม นี้ ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตรีแล้ว (ครม.) โดยอยู่ระหว่างร่างกฎกระทรวง และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.อีกครั้ง หากได้รับความเห็นชอบก็ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา และดำเนินการลงนามต่อไป