ศูนย์ข่าวศรีราชา - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พบผู้ประกอบการจังหวัดชลบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาการเลิกจ้าง พร้อมเร่งวางมาตรการ 3 ลด 3 เพิ่ม โดยด่วน
วันนี้ (26 ม.ค.) ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะ ได้เดินทางมาเป็นประธานในการประชุม รัฐ-เอกชน ร่วมใจแก้ไขปัญหาการเลิกจ้าง โดยมี นายสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และนายพิสิษฐ บุญช่วง รองผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ
นายไพฑูรย์ กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการของสถานประกอบการหลายแห่ง ซึ่งอาจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นหากไม่ได้รับการป้องกันและแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งอาจได้รับผลกระทบโดยต้องลดกำลังการผลิต ,ลดจำนวนพนักงาน หรือเลิกจ้างลูกจ้าง ซึ่งเป็นปัญหาโดยรวมต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ปัญหาที่เกิดขึ้นทางรัฐบาลมีความห่วงใย และให้ความสำคัญต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเน้นการรักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชน โดยขอความร่วมมือภาคเอกชนดำเนินการตามมาตรการ ชะลอการเลิกจ้างและป้องกันการขยายตัวของการเลิกจ้าง ในภาคอุตสาหกรรม และบริการทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม นอกจากนั้น ยังมีแนวทางเร่งรัดให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ถูกเลิกจ้าง และผู้ว่างงานอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ
นายไพฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเข้าไปดูแลให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ตามกฎหมายโดยเร็ว การหางานใหม่ การส่งเสริมอาชีพอิสระ การสร้างงาน และการเพิ่มพูนทักษะ เพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพรวมทั้งการจัดสวัสดิการที่จำเป็น ซึ่งขณะนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายบรรเทาปัญหาการว่างงาน ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ภายใต้กรอบมาตรการ 3 ลด 3 เพิ่ม คือ มาตรการ 3 ลด
ได้แก่ ลดการเลิกจ้าง โดยการสร้างงานและหางานให้ผู้ถูกเลิกจ้าง, ว่างงานทำ เสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ, ให้สินเชื่อแก่ผู้ถูกเลิกจ้างที่กลับภูมิลำเนาไปประกอบอาชีพใหม่, ลดการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยเน้นแรงงานในภาคเกษตร, ลดค่าครองชีพของลูกจ้าง เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโดยสารรถเมล์และรถไฟ เป็นต้น
นายไพฑูรย์ กล่าวว่า ส่วนนโยบาย 3 เพิ่มนั้น ได้แก่ เพิ่มการจ้างงานและตำแหน่งงาน ให้ผู้ถูกเลิกจ้างมีงานทำ, เพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพ โดยเพิ่มอาชีพใหม่ให้เป็นทางเลือก เพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน โดยฝึกอาชีพต่างๆ ให้สามารถประกอบอาชีพได้ ซึ่งล่าสุด เตรียมจัดฝึกอบรม คนตกงาน, นักศึกษาที่จบใหม่ และบุคคลที่ต้องการฝึกอบรมงานเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จำนวนทั้งสิ้น 5 แสนคน ภายในปีนี้ โดยในช่วง 6 เดือนแรก จะฝึกอบรมจำนวน 1.9 แสนคน โดยการฝึกอบรมในครั้งนี้ จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 6,900 ล้านบาท
สำหรับการมาพบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการในครั้งนี้ โดยมีผู้ประกอบการเสนอแนวความคิด ให้ทางกระทรวงนำไปพิจารณาช่วยเหลือ คือ ให้มีเงินกองทุนสนับสนุนในการฝึกอบรมพนักงานที่จะเข้าทำงานในโรงงานต่างๆ เพราะต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย และ สิงคโปร์ มีเงินกองทุนดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการต่างประเทศเข้าไปลงทุน ซึ่งหากประเทศไทยมีเงินกองทุนนี้ อาจจะมีหลายๆ ประเทศเดินทางเข้ามาลงทุนเพิ่ม ซึ่งเรื่องนี้ทาง นายไพฑูรย์ รับปากพร้อมอาจนำเสนอในการประชุม ครม.เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อไป