ตาก - ผู้นำทหารพม่าประกาศ เพิ่มปริมาณผลผลิตข้าว ช่วงฤดูฝนนี้ให้ได้ 2,000 ล้านถัง “ตานฉ่วย” แถลงผ่านวิทยุ-โทรทัศน์แห่งชาติพม่า ยืนยันอนาคตพม่าจะเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก ให้ได้ คาดปีหน้าจะมีข้าวสารนำเข้าชายแดนแม่สอด เพิ่มอีกหลายเท่าตัว ทำให้ปัญหาการลักลอบนำเข้าข้าวจากพม่าเข้าไทยทวีความรุนแรงขึ้นแน่นอน หลังไทยเปิดโควต้าให้นำเข้าข้าว 2.4 แสนตันในปีนี้ ทำให้เกิดขบวนการค้าข้าวชายแดนตากทั้งในและนอกระบบเกิดขึ้นเพียบ
สถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติของพม่า ที่รับฟังได้ที่จังหวัดเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ได้รายงานข่าวว่า พลเอกอาวุโสตานฉ่วย ได้มอบนโยบายให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและกระทรวงที่เกี่ยวข้องด้านพาณิชย์และการเงิน-การคลัง ในระหว่างการประชุมที่ผู้บริหารรัฐบาลและสภาสันติภาพเพื่อการพัฒนาแห่งรัฐ หรือ SPDC ที่กรุงเนย์ปีดอว์ รวมทั้งประชุมเพื่อเตรียมการเลือกตั้งใหญ่ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2553 ว่า ปัจจุบันพม่ามีปริมาณข้าวสารมากเกินความต้องการ และอุบัติเหตุครั้งใหญ่นาร์กีส ที่ทำลายพื้นที่เพาะปลูกเมื่อปีที่แล้ว ไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ - ปริมาณการปลูกข้าวแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลพม่าได้เข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนและได้รับการสนับสนุนจากมิตรประเทศในการช่วยเหลือสิ่งของต่างๆเพื่อการฟื้นฟูหลังภัยนาร์กีส
พลเอกอาวุโสตานฉ่วย ยังบอกอีกว่า พม่ามีความก้าวหน้าในด้านเกษตรกรรมที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีตัวเลขตั้งแต่ปีแรกในช่วงที่รัฐบาลชุดนี้ก้าวเข้ามามีอำนาจเมื่อ ปี 2531 สามารถผลิตข้าวได้เพียง 600 ล้านถังเท่านั้น(1 ถังเท่ากับ 33 กก.) แต่ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 1,600 ล้านถัง และจะเพิ่มปริมาณให้ได้ 2,000 ล้านถังในฤดูฝนปีนี้ และพม่าจะต้องเป็นประเทศที่ส่งข้าวสารออกจำหน่ายเป็นอันดับ 1 ของโลก
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการเกิดภัยพิบัติพายุไซโคลนนาร์กีสถล่มพม่าเสียหายหนัก เมื่อปี 2551 ทำให้มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวในพม่าที่มีการปลูกข้าวมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคได้รับความเสียหายอย่างหนัก ขณะที่ชาวนาพื้นที่ประสบภัยนาร์กิสต่างต่อสู้ดิ้นรนเพื่อฟื้นฟูนาข้าวที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งในช่วง 3 เดือนหลังเกิดภัยนาร์กีส องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN Food and Agriculture Organization)ได้ชี้ว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวกว่า 63 เปอร์เซ็นต์ยังคงจมอยู่ใต้น้ำ ขณะที่เมล็ดพันธุ์พืชมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ถูกทำลายเสียหาย ส่งผลกระทบให้ชาวนา 75 เปอร์เซ็นต์ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์สำหรับใช้เพาะปลูกในปีถัดไป และมีข้อมูลในทำนองเดียวกันทั้งโครงการอาหารโลกและนักวิชาการด้านอาหารและข้าว ต่างไม่เชื่อว่าพม่าจะผลิตข้าวได้มากกว่า 2,000 ล้านถัง เพราะภัยนาร์กีสทำให้พื้นที่ปลูกข้าว และทำเกษตรอื่นๆเสียหายมากและกำลังอยู่ในระหว่างการฟื้นฟู
รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันมีข้าวสารพม่านำเข้าทางด่านชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก จำนวนหลายหมื่นตันตามโควต้าที่ขออนุญาตนำเข้าผ่านพิธีการด่านศุลกากรแม่สอด อย่างไรก็ตามยังคงมีการลักลอบนำเข้าข้าวสารจากพม่าเข้าไทยอยู่เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร และหากพม่ามีปริมาณการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นตามที่นายพลอาวุโสตานฉ่วย กล่าว ในปี 2553 หลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวปีนี้อาจจะมีข้าวสารพม่านำเข้าฝั่งไทยที่ชายแดนแม่สอดเพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว
เจ้าหน้าที่ไทยจึงต้องเพิ่มมาตรการอำนายความสะดวกในการอนุญาตนำเข้าที่ถูกต้องตาม พรบ.ศุลกากรและ มีการเพิ่มมาตรการตรวจเข้มงวด ในการตรวจสอบการลักลอบนำข้าวสารที่ไม่เสียภาษีเข้าประเทศ เช่นกัน
นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ นายด่านศุลกากรแม่สอด ชายแดนไทย-พม่า (แม่สอด-เมียวดี) อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า ขณะนี้ด่านศุลกากรได้บูรณาการร่วมหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 แม่สอด-ฝ่ายปกครองอำเภอแม่สอด ในการร่วมกันตรวจสอบดูแลการนำเข้าข้าวสารจากประเทศพม่า หลังกระทรวงพาณิชย์ได้อนุญาตให้นำเข้าข้าวสารจากประเทศเพื่อนบ้านได้จำนวนกว่า 240,000 ตันทั่วประเทศ ตามกรอบองค์การการค้าโลก (WTO)
การบูรณาการร่วมในการตรวจสอบเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าและสวมใบอนุญาต โดยจะมีการตรวจสอบจำนวนนำเข้าทึกครั้งและหักลบกับจำนวนที่ขอนำเข้าเช่นพ่อค้า 1 ราย มีการขออนุญาตนำเข้า 500 ตัน ครั้งแรกนำเข้า 100 ตัน จะมีการลงบันทึกบนเอกสารนำเข้าว่ายังเหลืออีก 400 ตัน ซึ่งการนำเข้าแต่ละครั้งด่านศุลกากรจะแจ้งให้ทหารและฝ่ายปกครองทราบทุกครั้งและมีเอกสารแสดงการเสียภาษี โดยการเสียภาษีข้าวสารนำเข้า WTO จะคิดร้อยละ 30 ซึ่งจะต่ำกว่าภาษีนำเข้าข้าวสารทั่วไปที่คิดในอัตราร้อยละ 52 โดยกรอบ WTO จะเสียภาษีถูกกว่า 22 %