xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนสะดุดกระเทือน ศก.อีสานชะลอ คาดแนวโน้มขยายตัวไม่เกิน 0.5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชาย เสตกรณุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ธปท.อีสาน เผยภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาสแรกปีวัวดุชะลอตามคาด เหตุการลงทุนเอกชนสะดุด ทั้งประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ระบุวิกฤตเศรษฐกิจโลกกระทบเศรษฐกิจอีสานไม่หนัก เหตุพึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลัก ทั้งได้รับอานิสงส์จาก สปป.ลาว เป็นเจ้าภาพแข่งซีเกมส์ปลายปีนี้ เผยตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายปัจจัยชี้วัดแนวโน้มเศรษฐกิจในทิศทางที่ดี ทั้งรายได้ภาคเกษตรกรรม ยอดขายรถยนต์ อัตราการเข้าพักแรมที่สูงขึ้น คาดแนวโน้มเศรษฐกิจอีสานขยายตัวไม่เกิน 0.5%

วันนี้ (7 พ.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) จัดแถลงข่าวเศรษฐกิจครั้งที่ 2/2552 โดยนายสมชาย เสตกรณุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ. พร้อมด้วยผู้บริหารส่วนงานต่างๆ ร่วมกันแถลงข่าว ณ สถานสวัสดิการสงเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ริมบึงแก่นนคร อ.เมือง จ.ขอนแก่น

นายสมชาย เสตกรณุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ.กล่าวว่า เศรษฐกิจโดยรวมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสแรกปี 2552 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน ตามการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยมีการโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 20 โครงการ ลดลงจากไตรมาส 4 ปี 51 ที่มี 25 โครงการ เงินลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติมีจำนวน 3,469.0 ล้านบาท ลดลงถึงร้อยละ 49.5 จากไตรมาสก่อนหน้าที่มีวงเงินอนุมัติ 6,864.0 ล้านบาท

ตัวเลขทุนจดทะเบียนบริษัทตั้งใหม่ไตรมาสแรกปีนี้มีแค่ 520.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 56.7 จากไตรมาสก่อนหน้าที่มีจำนวน 796.2 ล้านบาท ส่วนทุนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดตั้งใหม่มีจำนวน 890.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.1 จากไตรมาสก่อนหน้าที่มีจำนวน 640.4 ล้านบาท พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างมีจำนวน 386,500 ตารางเมตร ลดลงร้อยละ 8.9 จากไตรมาสก่อนหน้าที่มีจำนวน 424,100 ตารางเมตร

ทั้งการจับจ่ายของประชาชนลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม มีตัวเลขเศรษฐกิจที่แสดงถึงแนวโน้มในทางที่ดี ประกอบด้วย รายได้ของเกษตรกรแม้จะชะลอตัวแต่ก็อยู่ในเกณฑ์ดี อาทิ ราคาข้าวเปลือกข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 13,761 บาท/เกวียน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 16.8 ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน อาทิ ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมีจำนวน 10,548 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 73.3 จากไตรมาสก่อนที่มี 6,085 คัน

ขณะเดียวกัน ตัวเลขอัตราการเข้าพักแรมมากกว่าไตรมาสก่อนจากร้อยละ 42 เพิ่มเป็นร้อยละ 45.7 อีกทั้งอุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ขยายตัวสูงมาก และอัตราการว่างงานลดลงจากร้อยละ 2.7 ในเดือนมกราคาเป็นร้อยละ 2.3 ในเดือนกุมภาพันธ์

นายสมชายกล่าวต่อว่า ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจ มีการเบิกจ่ายงบประมาณ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้น และส่วนราชการมีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ผลของมาตรการต่างๆของภาครัฐ เช่น มาตรการ 6 เดือน 6 มาตรการฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทย ที่ขยายผลอีก 6 เดือนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงโครงการเช็คช่วยชาติ

แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือปี 2552 คาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -1.0 ถึง +0.5 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1 ถึง 2 ซึ่งมีปัจจัยที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัว ได้แก่ วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของอเมริกาและยุโรป อาจส่งผลกระทบทารงอ้อมต่ออุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญของภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป

ปัจจัยที่ฉุดเศรษฐกิจต่อมา คือการว่างงานทั้งจากแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากส่วนกลาง และแรงงานที่ไปทำงานยังต่างประเทศ และปัญหาความตึงเครียดทางการเมือง

ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ. กล่าวว่า ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อว่าไม่รุนแรงนัก เนื่องจากเศรษฐกิจอีสานส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการผลิตภาคเกษตร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร อาจไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโดยตรง ทั้งราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ช่วยลดต้นทุนประกอบการของภาคธุรกิจ และกระตุ้นการท่องเที่ยว

ที่สำคัญภาคอีสาน น่าจะได้รับอานิสงค์จากการจัดแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในช่วงไตรมาสที่ 4 ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น การเดินทางเข้ามาชมกีฬาซีเกมส์ จะต้องผ่านพื้นที่ภาคอีสาน จะทำให้เงินหมุนเวียนในภาคอีสานสูงขึ้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคอีสาน
กำลังโหลดความคิดเห็น