ลำปาง – ชาวบ้านทั่วสารทิศแห่ร่วมแสดงมุติตาสักการะศพ “หลวงพ่อครูบาคำปัน” เกจิดังเมืองลำปาง ไม่ขาดสาย หลังเสียชีวิตเช้ามืดวานนี้ (5 พ.ค.)
รายงานข่าวจากจังหวัดลำปาง แจ้งว่า หลังจาก หลวงพ่อครูบาคำปัน เกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดลำปาง มรณภาพอย่างสงบเช้ามืดของวานนี้ (5 พ.ค.) ซึ่งในพิธีสรงน้ำอาบศพ มีพระสงฆ์และประชาชนที่ทราบข่าวแห่ร่วมแน่นวัด
รองเจ้าคณะจังหวัดและพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดกว่า 100 รูป, นายสามารถ ลอยฟ้า รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ประธานพิธีฝ่ายฆราวาส ได้ประกอบพิธีสรงน้ำอาบศพ พระครูรัตนประภากร หรือ ครูบาคำปัน ฉายา ปภากโร ที่บริเวณหอฉันท์วัดนาแส่ง เลขที่ 52 ม.6 ต.นาแส่ง อ.เกาะคา จ.ลำปาง มีลูกศิษย์และประชาชนที่ศรัทธา ที่ทราบข่าวนับพันคนต่างทยอยเดินทางมาแสดงมุทิตาสักการะเป็นครั้งสุดท้ายจำนวนมาก
พระครูรัตนประภากร หรือหลวงพ่อครูบาคำปัน ฉายา ปภากโร อายุ 85 ปี 64 พรรษา เจ้าอาวาสวัดนาแส่ง ต.นาแส่ง อ.เกาะคา จ.ลำปาง เกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดลำปาง ได้ละสังขารอย่างสงบที่หอฉันท์ วัดนาแส่ง เมื่อเวลา 04.52 น. วันที่ 5 พ.ค. หลังจากป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมานานและได้เข้ารักษาตัวที่ตึกอาพาธสงฆ์ ชั้น 4 โรงพยาบาลศูนย์ลำปางเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา และได้กลับมาฟักฟื้นที่วันเมื่อวันที่ 3 พ.ค.
นายประยูร เพิ่มพูน อดีตผู้ใหญ่บ้านนาแส่ง ลูกศิษย์คนสนิทของหลวงพ่อเล่าให้ฟังว่าเมื่อ เวลาประมาณ 03.00 น.ของวันที่ 5 พ.ค. หลวงพ่อได้พูดคุยอยู่กับลูกศิษย์ที่มาคอยเฝ้าปรนนิบัติ โดยหลวงพ่อได้สอบถามถึงเวลาในขณะนั้น เขาได้บอกไปว่าเป็นเวลาตี 3 และหลังจากนั้นหลวงพ่อก็ได้นอนหายใจเบาลงเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดลมละสังขารในเวลา 04.52 น. หลังการละสังขารของหลวงพ่อ ทำให้ศิษยานุศิษย์ ที่มาเฝ้าอาการต่างพากันเศร้าสลดและร่ำไห้ ขณะเดียวกันได้มีพุทธศาสนิกชนและศิษยานุศิษย์ทั้งในและต่างจังหวัดทั่วประเทศที่ทราบข่าวเริ่มทยอยมากราบศพอย่างไม่ขาดสาย
สำหรับประวัติ หลวงพ่อครูบาคำปัน เกิดที่บ้านแล้น เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2467 ตรงกับปีชวด อายุครบ 84 ปี ซึ่งก็คือ 7 รอบไปเมื่อไม่นานมานี้ โยมบิดาชื่อ อินถา และโยมมารดาชื่อ จันทร์แก้ว ในสกุล “จันทะไท” มีพี่น้อง 5 คน มีผู้ชายคนเดียวคือ หลวงพ่อคำปัน ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตของครอบครัวช่วยบิดามารดาทำการเกษตรจนอายุ 15 ปี มีจิตใจฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนามาแต่เล็กแต่น้อยจึงบวชเณรอยู่ 5-6 ปี แล้วจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อปี พ.ศ.2487 โดยมีพระครูขัตติยะ วัดสองแคว เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูอุดมวัดป่าแค เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระแสง วัดสองแคว เป็นอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า ปภากโร แปลว่า ผู้มีแสงสว่างไสว
เมื่ออุปสมบทแล้วได้ศึกษาพระปริยัติธรรมกับพระครูขัตติยะวัดสองแคว ซึ่งเป็นเจ้าคณะอำเภอ จนมีความรู้แตกฉานทางธรรมจากนั้นจึงหันไปศึกษาวิปัสสนาจากพระอุปัชฌาย์ แล้วนำความรู้ทั้งสองด้านมาฝึกฝนจิตใจบำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างเอกอุจนเห็นแจ้ง ในอริยมรรคมี องค์แปด ขัดเกลากิเลสตัณหาเห็นทุกข์ในโลกียโลก จึงตั้งใจบวชตลอดชีวิตเพื่อความหลุดพ้น กระทั่งเจ้าอาวาสวัดนาแส่งรูปเดิมคือ พระเมืองคำ ลาสิกขาไป ชาวบ้านเห็นในศีลาจารวัตรของ พระคำปัน น่าศรัทธาเลื่อมใส จึงอาราธนาให้เป็น เจ้าอาวาสวัดนาแส่ง ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
ตลอดเวลาที่หลวงพ่อมีชีวิตอยู่ท่านได้สร้างผลงานไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ที่ท่านได้มอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กที่ยกจนและส่งเสียเล่าเรียนจนจบจำนวนมาก สร้างโรงเรียนศึกษา พระปริยัติธรรม ด้านสังคมท่านก็มักจะร่วมบริจาคเงินเพื่อพัฒนาชุมชนและทำกิจกรรมของชุมชนโดยมิได้ขาด ท่านสนใจในการพัฒนาวัดในละแวกเดียวกันโดยมิได้ขาด ทำให้ประชาชนเคารพศรัทธาจำนวนมาก
นอกจากนั้นท่านยังป็นที่รู้จักในอีกด้านหนึ่ง คือ การปลุกเสกพระ พระรุ่นแรกของท่านที่ทำให้คนทั่วไปรู้จัก เนื่องจากนายประยูร ลูกศิษย์ ถูกยิงด้วยอาวุธสงคราม คือ ปืนเอ็ม16 กระหน่ำยิงถึง 36 นัด ได้รับบาดเจ็บเพียงแขนหัก เท่านั้น จึงทำให้ประชาชนเลื่อมใสมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหลวงพ่อเคยทำพิธีปลุกเสกพระเพียง 4 รุ่น คือ รุ่นแรก เมื่อครบรอบ 72 ปี รุ่นที่ 2 รุ่นปั้นมือ มวลสารดอกไม้ และรุ่นที่ 3 สร้างเมื่อ 2541 รุ่นนางพญา รุ่นพระรูปเหมือนหลวงปู่ ซึ่งผลิตจำนวน 10,000 องค์ และรุ่นสุดท้าย ครบรอบ 84 ปี รุ่น ป.นาแส่ง ปลุกเสกเมื่อเดือนธันวาคม 2550 เท่านั้น