สกลนคร - อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ สืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดแต่บรรพบุรุษ เผยความเชื่อท้องถิ่นหากหมู่บ้านใดไม่จัดงานบั้งไฟ อาจเกิด ภัยพิบัติ ในชุมชน
วันนี้ (5 พ.ค.) ที่อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ได้จัดงานประเพณี บุญบั้งไฟขึ้น โดยสมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธานเปิดงาน
นายสุรพล นิติกิจไพบูลย์ นายกเทศมนตรีตำบลพังโคนได้กล่าวรายงานถึงความเป็นมา และวัตถุประสงค์ของการจัดงาน การจัดงานบุญบั้งไฟตำบลพังโคนว่าทาง ประชาชนอำเภอพังโคน ทั้ง 5 ตำบล ได้ตกแต่งบั้งไฟและขบวนแห่เข้าประกวดแข่งขันกันอย่างคึกคัก ซึ่งแต่ละขบวนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ย้อนยุค อย่างสวยงาม ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางความสนใจของผู้ชมซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่ละขบวนประดับประดาบั้งไฟกันอย่างสุดฝีมือ
พร้อมทั้งมีผู้แต่งกายเป็นท้าวผาแดง และ นางไอ่คำนั่ง ประจำขบวนแห่บั้งไฟทุกขบวนสวยงามไปอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อขบวนการแสดงฟ้อนรำประกอบดนตรีพื้นเมืองของท้องถิ่น ของแต่ละหมู่บ้านเคลื่อนผ่านชุมชน ก็ได้รับความสนใจจากประชาชน ออกมา ร่วมงานตลอดเส้นทางที่ขบวนผ่านจนถึงวัด และร่วมแรงร่วมใจกัน จัดเวทีประกวดฟ้อนรำเซิ้งบั้งไฟ โดยได้รับความสนใจจากทุกหมู่บ้านส่งตัวแทนผู้แสดงเข้าร่วมประกวดประชันขันแข่ง ด้วยลีลาท่าทางที่สวยสดงดงาม เป็นที่สนุกสนานต่อผู้มาร่วมงานอย่างคึกคักบุญบั้งไฟ
นับเป็นประเพณีความเชื่อที่สำคัญในคนอีสาน นิยมทำกันในเดือน 6 ของทุกปี โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ ได้แก่ จุดมุ่งหมายในการขอฝน ชาวบ้านในภาคอีสาน ถือว่าบุญบั้งไฟเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญมาก เพราะเชื่อว่าหากหมู่บ้านใดไม่จัดงานบั้งไฟก็อาจก่อให้เกิด ภัยพิบัติ เช่น โรคภัยไข้เจ็บ หรือทุพภิกขภัยแก่ชุมชนได้ ในขณะที่ช่วงจัดงานนี้เป็นช่วงที่ ชาวบ้านมีงานต้องทำมาก เนื่องจากเป็นฤดู ของการทำนาปี
ฉะนั้น ที่ประชุมผู้ใหญ่บ้าน จึงต้องปรึกษาหารือกัน เพื่อตัดสินใจว่าจะจัดหรือไม่ในปีนั้น หากตัดสินใจว่าจะไม่จัดแล้ว ก็จำเป็นต้องไปทำพิธีที่ศาลปู่ตาของบ้าน เพื่อขออนุญาตเลื่อนงานบุญนี้ไปในปีหน้า การจัดงานและการละเล่นในประเพณีบุญบั้งไฟ ในวันสุกดิบชาวบ้านจะจัดขบวนแห่บั้งไฟยังศาลปู่ตาของหมู่บ้าน ทำพิธีเซ่นสรวง มีการจุดบั้งไฟที่ใช้ในการเสี่ยงทาย เพื่อเสี่ยงทายดูความอุดมสมบูรณ์และความสำเร็จในการทำนาปีนั้น
จากนั้นก็พากันกินเหล้าฟ้อนรำ รอบศาลปู่ตาเป็นที่สนุกสนาน จากนั้นก็พากันแห่บั้งไฟไปยังสถานที่จัดงาน หรือหมู่บ้านที่จัดงานบุญบั้งไฟเพื่อจุดแข่งขันประกวดประชันกันต่อไป ในปัจจุบันบั้งไฟที่ใช้จุดแข่งขัน มีหลากหลายที่นิยมเรียกกัน ได้แก่ บั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน บั้งไฟล้าน ซึ่งมีขนาดของดินปืนมากน้อย แตกต่างกันไป ในช่วงที่มีการจุดบั้งไฟนั้นนับเป็นช่วงตื่นเต้นและสนุกสนาน โดยเฉพาะช่างบั้งไฟจะต้องลุ้นมากกว่าใคร
เพราะหากบั้งไฟไม่ขึ้นก็จะถูกโยนลงบ่อโคลน นัยว่าเพื่อเป็นการลงโทษ แต่ปัจจุบันนั้น ไม่ว่าบั้งไฟจะขึ้น หรือไม่ขึ้นก็จะมีการโยนโคลน เพื่อความสนุกสนานมากกว่า ว่ากันว่าการทำบั้งไฟนั้นจะต้องมีการศึกษาเรียนรู้ มีครูและมีศิษย์สืบทอดกันมา โดยทั่วไปจะถ่ายทอดต่อกันเป็นคนๆ เท่านั้น ไม่ใช่คนทั่วไปอยากเรียนก็จะเรียนได้หมด ครูจะเลือกถ่ายทอดให้ตัวต่อตัวสำหรับศิษย์ที่ครูเห็นว่ามีไหวพริบ และมีพรสวรรค์ด้านการทำบั้งไฟเท่านั้น