xs
xsm
sm
md
lg

ฉก.ร.4 เดินหน้าสกัดแรงงานเถื่อนดึงทหารพราน-ปกครองร่วม-ชี้ค่าหัวพุ่ง 1.8 หมื่นต่อคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก – ฉก.ร.4 ดึงทหารพราน-ฝ่ายปกครอง ร่วมบูรณาการสกัดกั้นแรงงานอพยพจากเพื่อนบ้านเข้าไทย หลังขบวนการค้าแรงงานเถื่อนขยายตัวไม่หยุด ค่าหัวพุ่งสูงกว่า 18,000 บาท/คน เป็นสิ่งล่อใจ เผยตั้งแต่ต้นปี 52 จนถึงขณะนี้จับได้แล้วร่วม 15,000 คน

พ.อ.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 4 (ฉก.ร.4) กล่าวว่า หน่วยงานทหารวางกำลังดูแลพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด และ 5 อำเภอชายแดน (อ.แม่สอด-พบพระ-แม่ระมาด-ท่าสองยาง-อ.อุ้มผาง) จังหวัดตาก อย่างต่อเนื่อง นอกจากภาระกิจป้องกันการรุกล้ำอธิปไตย การบุกรุกทำลายป่า แล้วทหารยังบูรณาการร่วมทหารพราน-ฝ่ายปกครอง ดูแลเรื่องการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมือง โดยผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าว (กะเหรี่ยง-พม่า)

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ฉก.ร.4 สกัดกั้นและจับกุมแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองได้มากกว่า 12,000-15,000 คน ซึ่งขบวนการขนแรงงานต่างด้าวมีทั้งขบวนการใหญ่ และขบวนการย่อยจำนวนมาก มีการเก็บค่าหัวของแรงงานต่างด้าวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เดิมหัวละ 7,000-8,000 บาท ก็ขยับขึ้นมาเป็นคนละ 18,000 บาทต่อหัวต่อคน หรือมากกว่านั้น ทำให้ขบวนการขนแรงงานเถื่อนยอม ที่จะเสี่ยงในการกระทำความผิดเพราะได้รับค่าจ้างตัวเลขสูง

ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 แม่สอด กล่าวต่อว่า ขณะนี้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองถือเป็นปัญหาสำคัญ ตราบใดที่ยังมีความต้องการภายในประเทศ เพราะนายจ้างหรือเจ้าของกิจการยังนิยมจ้างแรงงานเถื่อน รวมทั้งการปิดกิจการของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป หรือ การ์เมนต์ ทำให้แรงงานต่างด้าวเคลื่อนย้ายหรือหลบหนีเข้าไปหางานทำในพื้นที่ชั้นในมากขึ้น

พ.อ.ผดุง มองว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานเหล่านี้ ไม่ได้หนีความแร้นแค้น เพราะในประเทศเพื่อนบ้านก็ยังทำมาหากินได้อยู่ แต่เมื่ออยู่ประเทศไทยดีกว่า ทำให้แรงงานต่างด้าวเหล่านั้นมองเห็นโอกาส ที่สำคัญในประเทศไทยยังมีความต้องหารใช้แรงงานต่างด้าวอีกเป็นจำนวนมาก

แหล่งข่าวจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดตาก แจ้งว่า จำนวนแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จ.ตาก ขึ้นทะเบียนและมีหลักฐานชัดเจนจำนวน 22,057 ราย โดยล่าสุดที่ถึงกำหนดต่อใบอนุญาตหลังทำงานครบ 3 เดือน ในดือน ก.พ.2552 ที่ผ่านมามีจำนวน 7,886 ราย ส่วนรอบต่อไปถึงกำหนดขึ้นทะเบียนในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นการต่อทะเบียนระยะสั้น เนื่องจากแรงงานในพื้นที่เหล่านี้มีการเคลื่อนย้ายตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน ก็แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ที่หลบหนีเข้าไปทำงานในพื้นที่ชั้นในของประเทศ ที่ผ่านมามีการจับกุมอยู่เป็นระยะและส่งกลับไม่ต่ำกว่าครั้งละ 100 ราย แต่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่มีหลักฐานและไม่มีใบอนุญาตทำงาน วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้โรงงานหลายแห่งในพื้นที่ต้องปิดกิจการ จึงมีแรงงานต่างด้าวถูกเลิกจ้างและตกงานจำนวนมาก แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับ หรือช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ จึงเป็นประเด็นที่ค่อนข้างมีปัญหาเพราะในภาวะเช่นนี้แม้แต่แรงงานไทยก็ยังหางานทำยาก
กำลังโหลดความคิดเห็น