xs
xsm
sm
md
lg

เผยยอดเตะฝุ่นเดือนเดียวพุ่งกว่าหมื่นราย สปส.ขยายสิทธิผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สปส.ขยายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคไตระยะสุดท้าย ทั้งค่าฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ค่าอุปกรณ์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พร้อมขยายเวลาการรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน จากเดิม 180 วัน เป็น 240 วัน สำหรับผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง ตั้งแต่ 1 ธ.ค.51-31 ธ.ค.52 เผยยอดคนตกงานเดือนเดียวนับหมื่นราย

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจ้งว่า ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ระยะสุดท้าย ซึ่งภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงไม่เพียงพอกับรายได้ สปส.จึงได้ขยายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนในการบำบัดทดแทนไต โดยเริ่มประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา

ดังนี้ ค่าฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จากเดิม ครั้งละไม่เกิน 1,500 บาท สัปดาห์ละไม่เกิน 3,000 บาท เพิ่มเป็นสัปดาห์ละไม่เกิน 4,500 บาท และเพิ่มค่าเตรียมเส้นเลือดสำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมพร้อมอุปกรณ์ ไม่เกิน 20,000 บาท ต่อรายต่อ 2 ปี ค่าตรวจรักษาและค่าน้ำยาล้างช่องท้องพร้อมอุปกรณ์ จากเดิม เดือนละไม่เกิน 15,000 บาท เพิ่มเป็น 20,000 บาท และเพิ่มค่าวางท่อรับส่งน้ำยาเข้าออกช่องท้องพร้อมอุปกรณ์ ไม่เกิน 20,000 บาท ต่อรายต่อ 2 ปี

สำหรับผู้ประกันตนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายก่อนการเป็นผู้ประกันตนคราวที่ยื่นขอใช้สิทธิเดิมไม่มีสิทธิได้รับบริการทางการแพทย์กรณีการบำบัดทดแทนไต สปส.ได้ปรับเพิ่มขยายสิทธิ ให้ได้รับสิทธิค่าตรวจรักษาและค่าน้ำยาล้างช่องท้องพร้อมอุปกรณ์ ค่าวางท่อรับส่งน้ำยาเข้าออกช่องท้องพร้อมอุปกรณ์ และค่ายาฉีดเพิ่มเม็ดเลือดแดง เช่นเดียวกับผู้ประกันตนที่ไม่ได้เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายก่อนการเป็นผู้ประกันตน

รวมทั้งกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับการล้างช่องท้องด้วยน้ำยาแบบถาวรแล้วล้มเหลวก็มีสิทธิเบิกค่าฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมได้ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่ สปส.จ่าย แต่หากผู้ประกันตน ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายก่อนการเป็นผู้ประกันตน คราวที่ยื่นขอใช้สิทธิประสงค์จะใช้วิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ตั้งแต่เริ่มแรกก็จะมีสิทธิเบิกค่าฟอกเลือดไม่เกิน 1,000 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 3,000 บาทต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกันตน ที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายซึ่งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เหล่านี้ สปส.พร้อมที่จะปรับปรุงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุด

** สปส.ขยายเวลารับเงินทดแทนว่างงาน

จากมาตรการบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างของกระทรวงแรงงาน คือ มาตรการ 3 ลด 3 เพิ่ม ได้แก่ ลดการเลิกจ้าง ลดการเคลื่อนย้ายแรงงาน ลดค่าครองชีพ เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพ และเพิ่มการพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน ซึ่งมีภารกิจหน้าที่ในการดูแลผู้ประกันตนได้เร่งดำเนินการเตรียมมาตรการในการบรรเทาปัญหาว่างงาน เพื่อเป็นการลดค่าครองชีพให้กับผู้ประกันตน โดยได้ดำเนินการขยายเวลาของการรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเดิมได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ซึ่งคำนวณจากฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เป็นระยะเวลา 180 วัน โดยได้ขยายระยะเวลาเป็น 240 วัน ให้กับผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2551-31 ธันวาคม 2552 ขณะนี้ร่างกฎกระทรวงฯ อยู่ในระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นชอบ จึงนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อลงนามในกฎกระทรวงดังกล่าวต่อไป

ส่วนกรณีที่ผู้ประกันตนลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และเลิกจ้างตามระยะเวลานั้นยังคงได้รับสิทธิเท่าเดิม คือจะได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงาน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ที่นำส่งเงินสมทบ ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ซึ่งการรับประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนการว่างงานกับนายจ้างรายสุดท้าย และจะต้องรีบขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักจัดหางานของรัฐทั่วประเทศภายใน 30 วัน หลังถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงานหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาฯ เพื่อรับสิทธิฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ยังได้มีบริการ ได้แก่ กรมการจัดหางานให้บริการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้บริการการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานอีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างยังจะได้รับความคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน ใน 4 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตายไม่เนื่องจากการทำงาน และกรณีคลอดบุตร แต่หากผู้ประกันตนประสงค์จะใช้สิทธิประกันสังคมต่อไป สามารถที่จะสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ตามมาตรา 39 ได้ โดยยื่นแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (สปส.1-20) ด้วยตนเองภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ออกจากงาน หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขต พื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่สะดวก หรือโทร.1506 หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.sso.go.th

** เผยเดือนเดียวยอดตกงานนับหมื่น

นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีสถานประกอบการเลิกจ้างไปแล้ว 163 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 17,474 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว ที่มีสถานประกอบการเลิกจ้างเพียง 94 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 8,357 คน นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มสถานประกอบการจะเลิกจ้างอีก 281 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 130,000 คน โดยในจำนวนนี้ มีมากกว่า 62,000 คน ที่ถูกลดวันทำงาน หรือลดโอที

นางอัมพรยังกล่าวถึงกรณีคนงานบริษัท ไทยการ์เมนต์ เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ย่านอ้อมน้อย สมุทรสาคร ซึ่งประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออก นัดชุมนุมประท้วงใหญ่ที่หน้าโรงงานริมถนนเพชรเกษม ในช่วงเย็นวันนี้ เพื่อคัดค้านการเลิกจ้างพนักงาน 811 คน จากทั้งหมด 2,660 คนว่า ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลสถานการณ์ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เบื้องต้นพบว่าบริษัทจะเลิกจ้างพนักงานโดยพิจารณาจากผลงานที่ผ่านมา โดยยอมจ่ายเงินชดเชยเพิ่มพิเศษให้กับพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ตั้งแต่ครึ่งเดือนจนถึง 3 เดือน ขณะที่คนงานต้องการให้ใช้วิธีสมัครลาออกก่อน เพราะกังวลว่าจะมีการฉวยโอกาสทำลายความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันไม่ได้ จึงอยากเรียกร้องให้ลูกจ้างคำนึงถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และเคารพกติกาที่มีอยู่ ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลให้นักลงทุนตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวได้
กำลังโหลดความคิดเห็น