ASTVผู้จัดการรายวัน -- นักออกแบบแฟชั่นเครื่องแต่งกายเหวียนมีงห์แห่ง (Nguyen Minh Hanh) จากกรุงฮานอย เพิ่งโชว์ฝีมือบนเวทีแฟชั่นระดับโลกช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในประเทศอิตาลี นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของเวียดนามที่ผลิตเสื้อผ้าเป็นสินค้าส่งออกสร้างรายได้ในระดับต้นๆ ให้แก่ประเทศ
แฟชั่นดีไซเนอร์ชาวเวียดนาม ได้รับเชิญไปร่วมงานสัปดาห์แฟชั่นอัลตาโรมา (Alta Roma Fashion Week) ซึ่งจัดขึ้นที่วิหารซานโตสปิริโต (Santo Spirito Cathedral) สมัยศตวรรษที่ 12 ในกรุงโรมระหว่างวันที่ 31 ม.ค.-3 ก.พ.ในฐานะแขกจากต่างแดน
เธอได้นำเครื่องแต่งกายที่สวยงามจำนวน 30 ชุด จากฝีมืออกแบบไปอวดสายตาของผู้ค้าและแขกเหรื่อที่สนใจจากทั่วโลก
ถึงแม้ว่าในหลายเหตุการณ์ก่อนหน้านี้จะเคยมีดีไซเนอร์เชื้อสายเวียดนามจากสหรัฐฯ ฝรั่งเศส หรือออสเตรเลีย นำผลงานออกแสดงบนเวทีระดับนานาชาติมาก่อน แต่มีงห์แห่งเป็นนักออกแบบแฟชั่นคนแรกจากดินแดนเวียดนามที่มีโอกาสได้ไปร่วมงานระดับนี้
งานออกแบบของเธอได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจจากเครื่องแต่งกายของเด็กๆ ชนชาติส่วนน้อยในเขตภูเขาสูงทางตอนเหนือของประเทศ ผ่านการทอเป็นลวดลายสวยงาม ออกแบบและตัดเย็บโดยใช้เทคนิคให้ดูออกมาเป็นสามมิติ และยังประดับประดาด้วยลูกปัด หินอัญมณี รวมทั้งดอกไม้ที่ผลิตจากผ้า ใช้สีสันที่คมชัดในโทนเขียว แดงคล้ำกับสีดำ ทำให้งานของเธอดูโดดเด่นบนเวที
ครั้งนี้เป็นงาน Alta Roma Fashion Week ครั้งที่ 14 มีนักออกแบบแฟชั่นชื่อดังของอิตาลีเข้าร่วมด้วยจำนวนมาก รวมทั้งบาเลสตรา (Balestra) บิลอตตา (Bilotta) มิกลิโอนิโกล (Miglionico) กับคอเร็ตตี (Coretti) ด้วย
หญิงสาวแห่งขุนเขาที่ได้เฝ้าดูการผ่องถ่ายวัฒนธรรม เครื่องแต่งกายจากรุ่นยายสู่รุ่นแม่ได้เป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญทางความคิดของนักออกแบบแฟชั่นจากเวียดนาม ชาวชนบทที่อยู่ห่างไกลเหล่านั้นใช้เส้นใยทุกอย่างที่หาได้ในท้องถิ่นประดิษฐ์เครื่องนุ่งห่ม หญิงสาวเหล่านั้นฟูมฟักเครื่องแต่งกายอย่างทะนุถนอมเพราะทราบดีว่า มันคือเครื่องชี้อนาคต
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นได้สร้างความประทับใจให้แก่วงการแฟชั่นระดับโลกในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นรายงานบนเว็บไซต์แฟชั่นแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส
เสื้อผ้าของมีงห์แห่งตัดเย็บด้วยมือทุกชิ้น ส่วนใหญ่จะใช้ผ้าไหมจากภาคเหนือเวียดนามซึ่งย้อมด้วยสีจากเปลือกไม้ก่อนจะแทรกลูกปัดหรือสิ่งประดับที่ทำจากวัสดุหลากชนิดเข้าไปในผืนผ้า สีทั้งหมดบนผ้าล้วนพบเห็นทั่วไปในเขตเขาสูงภาคเหนือ
แน่นอนสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยบนเวทีระดับโลก ก็คือ อ๋าวหยาย (Ao Dai) ชุดประจำชาติของชาวเวียดนาม
นักออกแบบแฟชั่นที่ประสบความสำเร็จเช่นมีงห์แห่งได้เป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ธุรกิจนี้ของเวียดนามอีกทอดหนึ่ง หลังจากได้มีความพยายามมาหลายปีที่จะทำให้ประเทศนี้เป็น “ตู้เสื้อผ้าของโลก” (World's Wardrobe) อีกใบ
ทุกฤดูที่เปลี่ยนไปวงการแฟชั่นในเวียดนามจะไหวตัวตามไปด้วย ทุกปีจะมีการจัดแฟชั่นโชว์ฤดูกาลใหญ่ๆ รวมทั้งแฟชั่นฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูร้อน ที่กำลังจะเวียนมาบรรจบอีกรอบหนึ่งในเดือนนี้ โดยจะมีนักออกแบบเสื้อผ้าจากทั่วประเทศจำนวนหลายร้อยคนนำผลงานออกแสดง
นักออกแบบแฟชั่นหน้าใหม่หลายคนได้รับการยกย่องในงาน Viet Nam Collection Grand Prix 2008 ปลายปีที่แล้ว นี่คือ เวทีสำหรับคนหน้าใหม่และหน้าเก่า ที่ได้สร้างนักออกแบบแฟชั่นฝีมือดีมาแล้วจำนวนมาก
ตามรายงานของสื่อในเวียดนามแฟชั่นดีไซเนอร์ของประเทศนี้จำนวนไม่น้อย กำลังทำเงินทำทองในต่างแดน โดยไม่ได้หวังชื่อเสียงอะไร แต่งานของพวกเธอหรือเขาขายดิบขายดีในฮ่องกง ญี่ปุ่น กระทั่งในนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ
ปีที่แล้วมูลค่าส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากเวียดนาม พุ่งขึ้นเป็นกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์เป็นรองจากการส่งออกน้ำมันดิบเท่านั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพยายามหาทางเปิดตลาดใหม่ในย่านยุโรป เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐฯ ที่ถูกมรสุมการเงินเล่นงานอย่างหนัก
พร้อมๆ กับอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าส่งออก วงการเครื่องแต่งกายในเวียดนามก็กำลังพัฒนาไปควบคู่กัน นักออกแบบและผู้ผลิตจำนวนหนึ่งได้พยายามปั้นแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาให้สังคมได้มีทางเลือก และหลายคนเริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ก้นอุโมงค์
การสำรวจเมื่อปลายปีที่แล้วได้พบว่าชาวเวียดนามได้หันมายอมรับเสื้อผ้าแบรนด์ในประเทศมากยิ่งขึ้นในยุคที่เงินเฟ้อพุ่งสูงกว่า 20% สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การเปิดร้านจำหน่ายเสื้อผ้าแบรนด์ท้องถิ่นต่างๆ ที่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโฮจิมินห์ นครใหญ่ที่สุดของประเทศทางภาคใต้
ในนครศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ มีร้านจำหน่ายเครื่องแต่งกายแบรนด์แปลกๆ ผุดขึ้นมาเป็นระยะไม่ว่าจะเป็น Nino Maxx ของบริษัทเหวียดแฟชั่น (Viet Fashion) หรือ โฟซี (Foci) ของฮันฮั่นแฟชั่น ท(Han Han Fashion Co) หรือ ห่า-กั๊ตตินี (Ha-Gattini) ของบริษัทเญิตห่า (Nhat Ha)
เหวียดเตี๋ยนการ์เมนต์ (Viet Tien Garment) ของนักลงทุนเวียดนามกับฮ่องกง ได้เปิดร้าน TT-Up ปลายปีที่แล้ว บริษัทธุรกิจผลิตเสื้อผ้าส่งออกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นครโฮจิมินห์อีกหลายแห่งก็เริ่มทำตลาดแฟชั่นในประเทศ ขณะที่ยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงในช่วงปลายปี
ตามถนนสายสำคัญจึงเกิดร้านค้าเสื้อผ้ายี่ห้อใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นทุกวันและทุกเดือน สิ่งนี้กำลังเป็นแนวโน้มใหม่ในกรุงฮานอยเช่นเดียวกัน
องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจเสื้อผ้าในเวียดนามก้าวหน้ารวดเร็ว ก็คือ นักออกแบบแฟชั่นฝีมือดี ซ่างแม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ได้ผ่านการเรียนจากเมืองนอก แต่หลายคนได้เรียนรู้จากประสบการณ์และการปฏิบัติตรงกับความตั้งใจจริง มีงห์แห่งจึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของวงการ
หลายคนกล่าวว่าการจะเป็น “ตู้เสื้อผ้าของโลก” ให้ได้ จะต้องออกแบบเป็น ตัดเย็บเป็น ขายเป็น และที่สำคัญ ก็คือ จะต้องเป็น “ตู้เสื้อผ้าในบ้านตัวเอง” ให้ได้เสียก่อน