xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนลิ้นจี่เชียงราย จี้ จังหวัด-อปท.ช่วยก่อนผลผลิตออก-ราคาตกซ้ำซาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – ชาวสวนลิ้นจี่เมืองพ่อขุนฯ ออกโรงจี้จังหวัด-อปท.ผุดมาตรการช่วยเหลือก่อนผลผลิตออกสู่ตลาด หลังแนวโน้มราคาตกต่ำต่อเนื่อง พร้อมเผยราคาลิ้นจี่ปลายทางสูงปริ๊ด แต่ราคาหน้าสวนกลับถูกกดต่ำติดดิน ทำให้เกษตรกรเดือดร้อนซ้ำซากทุกปี

รายงานข่าวจากสำนักงานเกษตร จ.เชียงราย แจ้งว่า ในปี 2552 ได้มีการประเมินสถานการณ์พื้นที่ปลูกลิ้นจี่ใน จ.เชียงราย ว่าจะมีพื้นที่ปลูกทั้งจังหวัดจำนวน 35,972 ไร่ มีเกษตรกรปลูกจำนวน 5,915 ราย คาดว่า จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 22,011 ตัน หรือประมาณ 618 กิโลกรัมต่อไร่ โดยพื้นที่ที่มีการปลูกมากที่สุด คือ อ.เมือง จำนวน 14,774 ไร่ ที่เหลือเป็น อ.แม่ฟ้าหลวง อ.พาน อ.แม่จัน ฯลฯ

ด้าน นายปราโมทย์ นพวงศ์ นายกสมาคมชาวสวนลิ้นจี่ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ในปีนี้พบว่าเกษตรกรในพื้นที่มีการปลูกลิ้นจี่กันเป็นจำนวนมากจึงคาดว่าเฉพาะผู้ที่อยู่ในสมาคมจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดรวมกันประมาณ 8,000 ตัน โดยผลผลิตจะออกมาราวกลางเดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะช้ากว่าพะเยา เล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่มีการชุมนุมปิดถนนของชาวสวนลิ้นจี่ อ.แม่ใจ จ.พะเยา ก็ทำให้ทางสมาคมมีความหวาดหวั่นในสถานการณ์ราคาในปีนี้อย่างมาก เพราะมีแนวโน้มว่าราคาคงจะตกต่ำลงเหมือนเดิมโดยเกรดคุณภาพเอเอคัดเกรดคงอยู่ราวๆ กิโลกรัมละประมาณ 20 บาท ส่วนเกรดต่ำลงมาก็ลดหลั่นกันลงไปตั้งแต่ 10-20 บาท

นายปราโมทย์ กล่าวว่า ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดเหมือนที่ จ.พะเยา จึงขอเรียกร้องให้ทางภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้วางมาตรการรองรับผลผลิตเอาไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยมีการกำหนดวันและเวลาในการจัดกิจกรรมรองรับต่างๆ เอาไว้ล่วงหน้าก่อนผลผลิตออกสู่ตลาด เพื่อให้เกษตรกรและพ่อค้าสามารถล่วงรู้กิจกรรมซื้อขายกันล่วงหน้า จะได้คัดผลผลิตออกสู่ตลาดได้อย่างเป็นระเบียบและสามารถระบายสู่ตลาดโดยทำให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด

กิจกรรมต่างๆ ดังกล่าวได้แก่การจัดงานตลาดลิ้นจี่ซึ่งควรจะกำหนดสถานที่กว้างขวางขวางและจัดให้ยาวนานตั้งแต่ 7-10 วันเป็นอย่างน้อย เพราะตลาดลิ้นจี่ช่วยให้เกษตรกรนำผลผลิตไประบายได้เป็นอย่างดี หากมีการกำหนดวัน เวลาและสถานที่กันเอาไว้ก่อนก็จะทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนเก็บผลผลิตได้ง่ายอีกด้วย รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดอีกด้วยเพราะลิ้นจี่ของเชียงรายถือว่ามีคุณภาพดีมากจึงน่าลิ้มรสอย่างยิ่ง

นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า ควรมีการพิจารณาเรื่องการการรับประกันราคาเอาไว้แต่เนิ่นๆ เช่น การรับจำนำ การชดเชยค่าขนส่งของเอกชนกิโลกรัมละ 1-2 บาท เป็นต้น การส่งเสริมการแปรรูปเพื่อให้เกษตรกรสามารถคัดลิ้นจี่ที่มีผลเล็ก หรือไม่ได้คุณภาพไปแปรรูปได้ การกระจายผลผลิตไปยัง อปท.หรือจังหวัดทั่วประเทศ ฯลฯ

ทั้งนี้ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดควรร่วมกับ อปท.โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัดควรเป็นเจ้าภาพ และจัดทำปฏิทินเอาไว้ให้พร้อมสรรพ ซึ่งสมาคมยินให้ความร่วมมือเต็มที่

“ที่ผ่านมา ผมได้ไปสำรวจตลาดลิ้นจี่ ที่ตลาดกลาง หรือตลาดไท ก็พบว่า ราคาลิ้นจี่สูงมาก และผู้บริโภคก็หาซื้อรับประทานกันในราคาสูงแต่ราคาที่ต้นทางของเกษตรกรกลับตกต่ำจนเกิดปัญหาทุกปี จึงเห็นว่าเกิดจากการบริหารจัดการไม่ดีจึงทำให้เป็นเช่นนี้ ดังนั้น ปีนี้จึงขอให้ทางภาครัฐได้กระจายกิจกรรมต่างๆ เอาไว้หลายกิจกรรม เพื่อใช้เป็นช่องทางในการระบายผลผลิตและเมื่อผลผลิตถูกระบายออกไปมาก ปัญหาอันเกิดจากราคาตกต่ำก็จะลดน้อยลง”

ด้าน นายสุเมฆ สุคลพาณิชย์ อดีตนายกสมาคมชาวสวนลิ้นจี่ จ.เชียงราย กล่าวว่า สมาคมก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2522 เดิมมีสมาชิกเป็นเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 300-400 คน เพราะราคาลิ้นจี่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแต่ปรากฎว่าหลังราคาผลผลิตตกต่ำได้ทำให้สมาชิกลดน้อยลงปัจจุบันเหลือเพียง 50-60 รายและเป็นพ่อค้าแม่ค้าเสียเป็นส่วนใหญ่ สาเหตุสำคัญคือต้นทุนสูงโดยเฉพาะค้าแรง ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง เมื่อผนวกกับราคาที่ตกต่ำทำให้มีเกษตรกรขายต้นลิ้นจี่ไปเป็นฟืนและหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น ข้าวโพด ยางพารา ฯลฯ เป็นจำนวนมาก

กำลังโหลดความคิดเห็น