xs
xsm
sm
md
lg

17 ชาติร่วมประชุม HIA ที่เชียงใหม่ ถกผลกระทบสุขภาพคนเอเชีย-ยก 5 กรณีศึกษาหารือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – ตัวแทนองค์กรเครือข่ายด้านสุขภาพ 17 ชาติเตรียมเข้าร่วมประชุม HIA ที่เชียงใหม่ 22-24 เม.ย.นี้ ตั้งวงถกผลกระทบทางสุขภาพภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ยก 5 พื้นที่เชียงใหม่-ลำพูนเป็นกรณีศึกษา ทั้งกรณีนิคมฯ ลำพูน ชุมชนวัดเกตุ เหมืองฝาย รวมถึงสุขภาพแรงงานนอกระบบของ “บ้านถวาย” เป็นกรณีศึกษา

นายแพทย์วิพุธ พูลเจริญ ประธานกรรมการจัดการประชุมนานาชาติ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก พ.ศ.2551 หรือ HIA 2008 กล่าวว่า ประเทศไทย โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติร่วมกับอีกหลายองค์กร จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติเรื่อง การประเมินผลกระทบทางสุขภาพภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก พ.ศ. 2551 (2008 Asia and Pacific Regional Conference on Health Impact Assessment) หรือ HIA 2008 ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2552 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ ซึ่งจะมีองค์กรและเครือข่ายด้านสุขภาพจาก 17 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เวียดนาม ลาว มาเลเซีย ญี่ปุ่น อังกฤษ กัมพูชา บรูไน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ มองโกเลีย จีน บังกลาเทศ และไทย จำนวนกว่า 250 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ

HIA (Health Impact Assessment) เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อสุขภาพ รวมถึงการปกป้อง คุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากผลกระทบเชิงลบของโครงการพัฒนา และนโยบายสาธารณะสาขาต่างๆ การประชุม HIA 2008 ถือเป็นการประชุมการประเมินผลกระทบทางสุขภาพระดับภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกเป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้มีการประชุมที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 2550 ซึ่งประเทศไทยได้นำเสนอการพัฒนาของการประเมินผลกระทบทางสุขภาพภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้ใช้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ เป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างมีภูมิคุ้มกัน

นายแพทย์วิพุธ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อเป็นเวทีนำเสนอกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพทั้งในระดับท้องถิ่นและประเทศ และนำสู่การสร้างพันธะสัญญาร่วมกันคือการประกาศ ปฏิญญาเชียงใหม่ (Chiang Mai Declaration) ให้ร่วมกันพัฒนากระบวนการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพเป็นหลักประกันการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ดังวิสัยทัศน์ของการประชุม คือ Empowering People Ensuring Health หรือ “เสริมพลังประชาคม สร้างสังคมสุขภาวะ”


กิจกรรมระหว่างการประชุมครั้งนี้จะมีทั้งการฝึกอบรม การปาฐกถาพิเศษจากผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพในระดับนานาชาติ และยังจะมีการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในพื้นที่ (At Scene Conference: Local-Global Conference for Change)

ด้าน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการจัดการประชุมนานาชาติการประเมินผลกระทบทางสุขภาพภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ HIA 2008 กล่าวว่า

การประชุม HIA 2008 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และองค์กรร่วมจัดการประชุมจึงได้ยกกรณีศึกษาใน 5 พื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูนที่มีความน่าสนใจต่อการผลักดันให้การพัฒนาหรือนโยบายสาธารณะ ที่จะมีผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนในชุมชนเดิมได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ โดยจัดให้ผู้ร่วมประชุมได้ลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานและองค์ความรู้ด้าน HIA ร่วมกันคนในชุมชนด้วย


กรณีที่ 1 คือ การจัดการทรัพยากรน้ำในภาคเหนือ : เหมืองฝายกับวิถีชีวิตของชุมชนริมน้ำปิง การดูงานพื้นที่นี้ ผู้ร่วมประชุมจะได้ตรวจสอบสภาพพื้นที่โครงการพืชสวนโลกและไนท์ซาฟารีต่อกรณีปัญหาความขัดแย้งในการจัดการน้ำ มีการอภิปรายปัญหาการจัดการน้ำเสียในเมืองเชียงใหม่และความขัดแย้งข้ามท้องถิ่น การศึกษาดูงานที่ฝายพญาคำ และอภิปรายเรื่องความขัดแย้งในการจัดการน้ำระหว่างระบบเหมืองฝาย กับการจัดการของภาครัฐ กรณีโครงการรื้อฝายพญาคำและสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำปิง และสรุปประเด็นด้วยเรื่อง “พลวัตของความขัดแย้งในการจัดการน้ำและความท้าทายในการแก้ปัญหา”

กรณีที่ 2 การพัฒนาเมืองกรณีศึกษาย่านวัดเกต : จากจิตวิญญาณของศรัทธาชุมชนสู่การพัฒนาเมือง ที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่เกิดความขัดแย้งระหว่างความต้องการของประชาชนในพื้นที่ กับแนวทางการพัฒนาของรัฐผ่านกรณีการแก้ไขผังเมืองรวมเชียงใหม่ครั้งที่ 3

กรณีที่ 3 ผลกระทบทางสุขภาพต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม : กรณีนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (ลำพูน) โดยในอดีตผู้คนในเมืองลำพูนมีอาชีพเกษตรกรรม ค้าขาย และรับจ้าง ต่อเมื่อเมื่อพ.ศ.2528 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาสร้างนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือที่ จ.ลำพูน ตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมภายในนิคมฯ 75 โรงงาน เกิดมูลค่าการลงทุนกว่า 65,800 ล้านบาท สร้างแรงงาน 48,605 คน แม้จะทำให้ลำพูนกลายเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวของประชาชนสูงสุดของภาคเหนือ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีทั้งกลิ่นเหม็น น้ำเสีย การขาดแคลนน้ำ อุบัติเหตุจากการจราจรมากขึ้น ความสัมพันธ์ในชุมชนลดลง

นอกจากนี้ แรงงานวัยหนุ่มสาวที่มีรายได้เป็นของตนเองและแยกมาใช้ชีวิตโดยขาดความระวัง ส่งผลต่อปัญหาสังคมตามมาทั้งอาชญากรรม การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ขณะที่สุขภาวะในการทำงานของแรงงานยังขาดกระบวนการเฝ้าระวังสุขภาพคนงานอย่างต่อเนื่อง ช่วงปี พ.ศ.2536-2538 มีคนงานในนิคมอุตสาหกรรมเกิดเจ็บป่วยและทยอยเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ สื่อมุ่งประเด็นไปยังการได้รับสัมผัสสารเคมีจากการทำงาน ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน

ขณะเดียวกันยังมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ คุณภาพชีวิตแรงงาน หลังจากถูกปลดออกจากงาน พื้นที่นี้ผู้ร่วมประชุมจะได้สำรวจสภาพแวดล้อมรอบนิคมฯ รับทราบ “ปัญหามลภาวะทางน้ำและการติดตามตรวจสอบโดยภาคประชาชน” ชมกิจกรรมกลุ่มทอผ้าของผู้สูงอายุ และเสวนา “ผลกระทบทางสุขภาพกับการพัฒนาอุตสาหกรรม” กับ “บทบาทของภาคประชาสังคมกับการก้าวย่างต่อไปของเมืองลำพูน”

กรณีที่ 4 ชุมชนเกษตรยั่งยืน จังหวัดเชียงใหม่ และกรณีที่ 5 การสร้างเสริมการดูแลสุขภาพสำหรับแรงงานนอกระบบงานไม้แกะสลักบ้านถวาย หมู่บ้านหัตถกรรมเพื่อการท่องเที่ยวชื่อดังของเชียงใหม่ ที่มีแรงงานในพื้นที่ทั้งหญิงและชาย จากการวิจัยของคณะพยาบาลศาสตร์ คณะการสื่อสารมวลชน และคณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พบว่าแรงงานส่วนใหญ่ตระหนักถึงภาวะเสี่ยและปัญหาสุขภาพจากการทำงาน โดยเฉพาะการอยู่ในท่าทางที่ไม่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง การสัมผัสฝุ่นละอองและสารเคมี และภาวะเสี่ยงจากการใช้เครื่องจักรกล

ดร.เดชรัต กล่าวว่า การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในสังคมและเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำไปสู่การสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ โดยประเทศไทยได้ริเริ่มพัฒนาระบบและกระบวนการ HIA นับตั้งแต่การปฏิรูประบบสุขภาพใน พ.ศ.2543 ซึ่งต่อมาได้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายถึง 2 ฉบับ คือ มาตรา 67 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และ มาตรา 11 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการกำหนดกลไกด้าน HIA ในประเทศไทย

การประชุม HIA 200 ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาให้ HIA นำไปสู่การสร้างพันธะสัญญาร่วมกันคือการประกาศ ปฏิญญาเชียงใหม่ (Chiang Mai Declaration) ให้ร่วมกันพัฒนากระบวนการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพเป็นหลักประกันการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ดังวิสัยทัศน์ของการประชุม คือ Empowering People Ensuring Health หรือ “เสริมพลังประชาคม สร้างสังคมสุขภาวะ”


กำลังโหลดความคิดเห็น