เชียงราย-ปภ.เชียงรายและจนท.ในสังกัดซ้อมใหญ่ 3 จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยระบุเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ต้องมีจำนวนลดลงไม่ปราถนาครองแชมป์จำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดเหมือนปีที่ผ่านมา
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่าวันนี้ (3 เม.ย.) พ.ต.ธีระ สันติเมธี ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) เขต 15 และนายสุเทพ เดชศรีชัย ปภ.เชียงราย ได้นำเจ้าหน้าที่สังกัด ปภ.ตำรวจ ทหาร หน่วยบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายปกครอง โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนใน จ.เชียงราย ฯลฯ จัดการซ้อมแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน จ.เชียงราย ขึ้นเพื่อเตรียมรองรับเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้คุ้นเคยและเตรียมความพร้อมหากเกิดสถานการณ์จริง เนื่องจาก จ.เชียงราย มักประสบปัญหาสถิติอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลต่างๆ ที่พุ่งสูงติดอันดับต้นๆ ของประเทศอยู่เสมอ โดยช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมาหรือช่วง 7 วันอันตรายก็มียอดผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศคือ 21 ราย
โดยการซ้อมแผนครั้งนี้เป็นการซ้อมใหญ่ที่จัดให้มีการจำลองอุบัติเหตุขึ้นภายในเขตเทศบาลนครเชียงราย 3 จุดในเวลาไล่เรี่ยกัน ได้แก่ โค้งหนองเหียง ถนนสายเด่นห้า-ดงมะดะ ต.รอบเวียง อ.เมือง บริเวณสี่แยกวัดใหม่หน้าค่าย ถนนดงมะดะ ต.รอบเวียง อ.เมือง และเชิงสะพานแม่ฟ้าหลวง ต.รอบเวียง อ.เมือง โดยแต่ละแห่งถือเป็นจุดที่มักจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้งในช่วงเทศกาล ทั้งนี้ได้จำลองเหตุการณ์ว่าได้มีรถยนต์หลายคันชนประสานงากันในแต่ละจุด จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจุดละตั้งแต่ 10-20 ราย โดยจำลองอุบัติเหตุอย่างเต็มรูปแบบทั้งการงัดคนขับที่ได้รับบาดเจ็บกระดูกซี่โครงหักจนติดอยู่กับหน้ารถ การช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บครั้งละมากๆ
พ.ต.ธีระ กล่าวว่าเชียงรายมักจะมีสถิติอุบัติเหตุที่สูงทุกปีโดยเฉพาะช่วงเทศกาลดังนั้นปีนี้จึงให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะทางกระทรวงมหาดไทยได้ตั้งเป้าให้ตัวเลขผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บและจำนวนครั้งที่เกิดลดต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สำหรับ จ.เชียงราย มีสถิติผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2551 ที่ผ่านมาจำนวน 7 ศพ ดังนั้นปีนี้จึงหวังว่าจะไม่เกิดขึ้นเลยจึงได้ระดมทุกภาคส่วนมาทำการซ้อมใหญ่เพื่อทดสอบความพร้อมและมีการให้คะแนนเพื่อประเมินผล
พ.ต.ธีระ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในส่วนของการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในภาพรวมทั้งจังหวัด ก็ได้กำหนดให้มีการเพิ่มจุดให้บริการประชาชนให้เพิ่มมากขึ้นโดยเดิมกำหนดให้มีจุดบริการอำเภอละ 3 จุด ก็ให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งเทศบาล องค์กรปกครองส่วนตำบล (อบต.) ที่มีอยู่ทั่วจังหวัดประมาณ 130 แห่ง ได้ตั้งจุดให้บริการเพิ่มโดยหาก อปท.ใดมีความพร้อมมากก็สามารถตั้งจุดบริการให้มากกว่า 1 จุดได้อีกด้วย ทั้งนี้จะมีการระดมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ฯลฯ ระดมกันไปตั้งจุดตรวจมากๆ เพราะที่ผ่านมามักพบปัญหาเรื่องการดื่มสุราและขับขี่จักรยานยนต์ตามถนนสายรองกันมาก ดังนั้นการให้คนท้องถิ่นดูแลคนท้องถิ่นจึงน่าจะได้ผลที่สุดเพราะย่อมจะเข้าใจกันได้ดีกว่า