xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปมปริศนา “ข้าวไทยใส่โสร่ง” (จบ) กรณีศึกษามหากาพย์โคตรโกงข้าวพิจิตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไซโลร้าง กลางทุ่งนาเมืองชาละวัน-พิจิตร ของบริษัทเพรซิเด้นท์ฯ อดีตโรงสีปลายแถวของพิจิตร ที่สร้างตำนานสะท้านวงการค้าข้าว
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ– ชำแหละกลวิธี “โคตรโกงจำนำข้าวพิจิตร” ที่กลายเป็นมหากาพย์โกงไม่สิ้นสุด เก็บกินกันทุกเม็ดตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง เล่นกันทั้ง “ฉ้อโกง ยักยอก ลักทรัพย์” แถมเวียนข้าว-ยัดไส้กินกำไรหลายต่อ

“ถ้าดูผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด หรือ GPP พิจิตรแล้วจะพบว่า ในยอดทั้งหมด 29,000 ล้านบาทต่อปีนั้น เป็นเม็ดเงินที่ได้จากผลผลิตข้าวมากกว่า 25,000 ล้านบาท หรือประมาณ 86.2% ของ GPP จังหวัดพิจิตร มาจากข้าวทั้งสิ้น ที่เหลือเป็นผลผลิตทางการเกษตรอื่น และภาคธุรกิจอื่นๆ” นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวกับ “ASTVผู้จัดการ”

นั่นหมายถึงหากเกิดอะไรขึ้นกับ “ข้าว” ระบบเศรษฐกิจของพิจิตรพังพินาศทันที กลับกันเม็ดเงินที่ได้จากผลผลิตข้าว 25,000 ล้านบาท/ปี กลับไม่ได้ทำให้ชาวนาพิจิตร ร่ำรวยขึ้น

แม้ว่ารัฐบาลจะทุ่มงบประมาณเข้ามารับจำนำ เพื่อพยุงราคาข้าวเป็นประจำทุกปี ซึ่งล่าสุด 16 มี.ค.52 ที่ผ่านมา ก็มีโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 52 จำนวน 2.5 ล้านตัน ที่ราคา 11,800 บาท/ตัน ณ ระดับความชื้นไม่เกิน 15% ระยะเวลาเปิดรับจำนำตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.-31 ก.ค.52 โดยใช้งบประมาณราว 36,000 ล้านบาทก็ตาม

แต่ “พิจิตร” กลับกลายเป็นเมืองแห่งตำนาน “โคตรโกงข้าว” ที่โกงกันทุกเม็ด โกงกันตั้งแต่ต้นจนจบโดยนโยบายรับจำนำข้าว ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ยุค “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยชาวนาไม่ให้ถูกกดราคา แต่จนถึงวันนี้ (พ.ศ.2552) นโยบายนี้ก็ยังไม่ได้ผลตามเป้าหมาย ประโยชน์กลับตกอยู่ในมือโรงสี พ่อค้าคนกลาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ แทน(ยกเว้นชาวนา)

นวัตกรรมการโกงโครงการจำนำข้าวในระยะที่ผ่านมาเกิดขึ้นหลากหลาย มีตั้งแต่การสวมสิทธิ์เกษตรกร เข้าร่วมโครงการรับจำนำของรัฐ โดยพ่อค้า หรือโรงสี จะหาทางกดราคารับซื้อข้าวจากเกษตรกร ที่มีทั้งขายเขียว (ยังไม่ได้เกี่ยว) เพื่อหาเงินไปใช้หนี้ ธ.ก.ส. หรือกดราคาลงต่ำไว้ล่วงหน้า แล้วนำมาสวมเข้าโครงการ โดยให้เกษตรกรเซ็นชื่อยืนยันว่า เป็นเจ้าของข้าว แลกกับเงินเพิ่มเล็กน้อยตันละ 100-200 บาท

นอกจากนี้ บางครั้งยังให้เกษตรกรระบุผลผลิตข้าวเกินจริง เพื่อทำสต็อกลม ก่อนนำเข้าจากแหล่งอื่นที่มีราคาถูกกว่า เข้ามาสวมสิทธิ์เข้าโครงการ รวมถึงโรงสีบางแห่งก็ลงบัญชีจำนำข้าวเกินจริง เพื่อทำสต็อกลมไว้ ตลอดจนใช้วิธีซิกแซกกดราคาข้าวเกษตรกร ทั้งหักค่าสิ่งเจือปน ค่าความชื้น โกงน้ำหนัก ฯลฯ ที่สามารถ “ทอน” ออกมาเป็นตัวเงินได้ทั้งหมด

เมื่อถึงขั้นตอนการแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ที่ตามหลักแล้ว ข้าวเปลือก 1 ตัน จะได้ข้าว 5% จำนวน 550 ตัน โรงสีสามารถร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ (บางคน) แจ้งปริมาณข้าวที่แปรสภาพแล้วได้น้อย อ้างว่า มีข้าวหัก ปลายข้าว รำข้าว แกลบเยอะ ก็จะได้ผลกำไรเพิ่มขึ้นอีก

ขณะที่ในขั้นตอนการนำข้าวสารเก็บรักษาในคลังกลาง ก็มีการโกงกันซึ่ง ๆ หน้า ทั้งเอาข้าวคุณภาพต่ำจากแหล่งอื่นเข้ามาปนกับข้าวคุณภาพสูง หรือบางครั้งก็มีการหมุนข้าวออกไปขายก่อน จากนั้นค่อยหาข้าวราคาต่ำเข้ามาสวมส่งแทน เป็นต้น

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นข้าวจากพม่าที่ลักลอบนำเข้าผ่านชายแดนแม่สอด จ.ตาก กันอย่างอึกทึกครึกโครมในระยะที่ผ่านมา และนำเข้าตามโควต้ากระทรงพาณิชย์ตั้งแต่ 27 ก.พ.2552 เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้ด้วย

หรือแม้แต่การรับซื้อ “ข้าวหอมจังหวัด” จากมือเกษตรกร ในราคาต่ำกว่า “หอมมะลิ” ประมาณ 1-2 พันบาท/ตันแล้ว ซึ่งแม้แต่ภาครัฐเอง ก็ไม่ยอมรับรองให้ “ข้าวหอมจังหวัดเป็นข้าวหอมมะลิ” แต่เมื่อข้าวพ้นมือเกษตรกรแล้ว กลับหายไปจากสารบบอย่างสิ้นเชิง เหลือเพียง “ข้าวหอมมะลิ 100%” กลับสู่ท้องตลาด ซึ่งเป็นข้าวที่ขายในราคา “หอมมะลิ” ทั้งสิ้น

พ.ต.อ.จรวย ผลประเสริฐ รอง ผบก.ภ.พิจิตร ที่เคยเป็นชุดมือปราบโครงการับจำนำข้าว ระบุว่า ขบวนการโกงชาวนาพิจิตร ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ซึ่งตนเองเป็นคนจับกุมและทำสำนวนมากกว่า 60-70 คดี มีผู้ต้องหามากกว่า 100 คน ทั้งชาวนา เถ้าแก่โรงสี ผจก.ธ.ก.ส. อคส. การค้าภายใน ฯลฯ มีการทำกันเป็นขบวนการ

ในสมุดปกขาวแฉขบวนการโกงข้าวในพิจิตร หรือรายงาน “องค์ความรู้เรื่องการสอบสวนคดีเกี่ยวกับข้อหาทุจริตตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล” ของตำรวจภูธรพิจิตร ระบุว่า การโกงข้าวที่พิจิตร จำแนกออกได้ 3 ลักษณะใหญ่ๆคือ ฉ้อโกง ยักยอก ลักทรัพย์

ในกรณี “ฉ้อโกง” ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะเจ้าของโรงสี ประกาศว่า โรงสีของตนได้รับอนุญาตเข้าโครงการ (พิจิตร มีโรงสีทั้งหมด 42 แห่ง แต่มีประวัติฉ้อโกงเกือบ 20 แห่ง และในการรับจำนำข้าวนาปรังปี 52 ที่เริ่มต้นเมื่อ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา มีโรงสีสมัครเข้า 19 แห่ง แต่ตรวจคุณสมบัติผ่านแล้วเพียง 9 แห่ง อีก 10 แห่งที่เหลือยังมีปัญหาติดค้างการส่งมอบข้าวสารให้กับรัฐอยู่) แต่ที่จริงไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้
เจ้าหน้าที่ค้าภายในพิจิตร กำลังตรวจปริมาณข้าวสารของโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2551/52 ก่อนนำส่งเข้าคลังกลาง
เมื่อมีเกษตรกรเชื่อนำข้าวมาฝากไว้ ก็จะขอผ่อนผันการชำระเงิน ออกเป็นตั๋วให้กับชาวนา หรือใบประทวนปลอมก่อน (ไม่ใช่ใบประทวนของ อคส.) โดยมากจะให้ราคาดีกว่าความเป็นจริง จากนั้นก็นำข้าวออกขาย แล้วปิดกิจการหนี

เกษตรกรไม่สามารถนำใบประทวนปลอมไปขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส.ได้ สุดท้ายก็ต้องแจ้งความกับตำรวจในข้อหาฉ้อโกงประชาชน เจ้าของโรงสีหรือตัวแทนก็จะถูกดำเนินคดี ข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอมอีกกระทงหนึ่ง เช่น โรงสีก้องเกียรติการเกษตร อ.โพทะเล จ.พิจิตร โดยนายธรรมรัตน์ บุกบุญ กับพวกรวม 8 คน เป็นต้น

กรณี “ยักยอก” เจ้าของโรงสีจะทำสัญญากับ อคส. รับฝากข้าวสีแปรส่งรัฐบาล เมื่อชาวนานำข้าวมาจำนำกับโรงสี อคส. ก็จะออกใบประทวนให้กับชาวนานำไปเบิกเงินที่ ธ.ก.ส. แต่เจ้าของโรงสีกลับนำข้าวไปขาย เพื่อนำเงินมาหมุน

เมื่อเจ้าหน้าที่ไปตรวจก็ไม่พบข้าว เจ้าหน้าที่จึงแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของโรงสีในข้อหาฉ้อโกง โดยเป็นคู่กรณีกับ อคส. เช่น กรณีเสี่ยแหลม นายอำนวย ค้าธัญญาเรือง เจ้าของโรงสีอำนวยค้าธัญญาเรือง อ.บางมูลนาก โรงสีธัญญาเรือง อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ โรงสีอำนวยธัญยากิน อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร โรงสีราชาการเกษตรไรซ์มิล ขโมยข้าว อคส.มูลค่า 147 ล้านบาท ข้าวหายจากโรงสีกลุ่มเกษตรกรทำนาทับคล้อ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร 3,000 ตัน เป็นต้น คดีเช่นนี้เป็นวิธีการที่โรงสีใช้อยู่เป็นประจำ เรียกว่า “เวียนข้าว” หากรู้เห็นกับเจ้าหน้าที่ก็จะทำให้โรงสีมีเงินหมุนเวียนตลอดเวลา

กรณี “ลักทรัพย์” เป็นลักษณะที่โรงสี ได้สีแปรข้าวให้กับรัฐแล้ว แต่รัฐทำสัญญาฝากเก็บข้าว (ข้าวสาร) ที่รับจำนำ ไว้กับเจ้าของโรงสีหรือเจ้าของโกดัง ซึ่งข้าวดังกล่าวเป็นข้าวของรัฐ (อคส.) เพียงแต่ฝากเก็บไว้เท่านั้น โดยรัฐเสียค่าฝากเก็บเป็นรายเดือน เมื่อมีการตรวจสอบว่าข้าวที่ฝากเก็บไว้สูญหายไป อคส.ก็จะแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ลักทรัพย์ในข้อหาลักทรัพย์ เช่น คดีนายวีระพงษ์ ชัยเวช อดีตนายก อบต.วังทรายพูน กับพวก ถูกศาลตัดสินจำคุก 16 ปี ในคดีข้าวหายไปกว่า 100 ล้านบาท ล่าสุดมีข่าวต้องคดีค้ายาบ้าที่ชายแดน สปป.ลาว อยู่ คดีเจ้าของโรงสีหรือโกดังราชาเกษตรไรซ์มิลล์ อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร
 เจ้าหน้าที่ตำรวจ จ.พิจิตร ชี้ให้ดูกองข้าวที่บรรจุใน เบ้า ละ 1,000 - 1,100 กก.ให้ดู ซึ่งก็ไม่สามารถระบุกันได้ชัดเจนว่า เป็นข้าวจากแหล่งใด เนื่องจากข้าวไม่ได้มีลักษณะบ่งเฉพาะทางกายภาพ ที่สามารถชี้ชัดได้ทันทีว่า เป็นข้าวจากที่ไหน
นอกจากนี้ยังมีวิธีการทุจริตเกี่ยวกับข้าวในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลอีก แต่เป็นวิธีการของเจ้าของโรงสี ที่จะมีวิธีการพลิกแพลงในการประกอบกิจการ โดยผู้สมรู้ร่วมคิดกันระหว่างโรงสีด้วยกันเอง สมรู้ร่วมคิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ สมรู้ร่วมคิดกับเกษตรกรทำนา เช่น นำข้าวในโกดังที่ได้ค่าเช่าอยู่แล้ว จำนำกับแบงก์ (ทั้งที่ไม่ใช่เจ้าของข้าว) ซึ่งบางครั้งมีถึงขั้นจำนำซ้ำ (ดับเบิลไฟแนนซ์) เมื่อถึงกำหนดตรวจ ก็ยังคงมีข้าวอยู่ครบ บางครั้งก็จะลักลอบนำออกไปขาย เป็นต้น

เมื่อถึงคราวเจ้าหน้าที่มาตรวจก็อาจจะมีการยืมข้าวจากโกดังอื่นมาสวมแทนก่อน เพราะตรวจสอบไม่ได้ว่าเป็นข้าวจากไหน หรือปล่อยให้ดำเนินคดี กลายเป็น NPL ของแบงก์พาณิชย์มาจนถึงทุกวันนี้หลายพันล้านบาท และมีผลทำให้แบงก์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจโรงสีทั่วประเทศในขณะนี้ด้วย

ขณะที่เจ้าของโรงสีจะได้ทั้งเงินค่ารับฝากข้าวรายเดือนจาก อคส., เงินจากการจำนำข้าวกับแบงก์ และเงินจากการลักลอบนำข้าวไปขาย และเมื่อโรงสีติดชื่อในบัญชีดำ ก็มีการเปลี่ยนชื่อบริษัท เปลี่ยนชื่อผู้ประกอบการแต่ใช้สถานที่เดิม จะได้กลับเข้ามาทำโครงการับจำนำข้าวอีก วนเวียนปฏิบัติการโกงได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังเกิดกรณีมีการนำใบประทวนของจริงที่อยู่ในการครอบครองขององค์การคลังสินค้าที่หายไป จำนวน 6 เล่ม เมื่อปี 2549 เมื่อมีผู้นำไปเขียนกรอกข้อความ 30 ฉบับ เพื่อนำไปขึ้นเงินที่ธนาคารการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขา อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ได้เงินไปเกือบ 7 ล้านบาทด้วย

แน่นอน “กลโกง” นี้ไม่ได้เกิดเฉพาะพิจิตรที่เดียวเท่านั้น และไม่ได้เป็นความลับซับซ้อน ที่หน่วยงานรัฐจะไม่รู้ หรือยากเกินแก้ไข

ไม่นับกรณี “บริษัท เพรซิเด้นท์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด” อดีตโรงสีชั้นปลายแถวของพิจิตร ที่ขึ้นชั้นแถวหน้าของวงการข้าวไทยได้ในยุคไทยรักไทยรุ่งเรือง มีนายวัฒนา เมืองสุข เป็น รมว.พาณิชย์ และสามารถประมูลข้าวจากรัฐได้ติดต่อกัน 2 ปีซ้อน ผู้สร้างตำนานทิ้งข้าวที่ประมูลได้ แถมทุ่มงบสร้างเรือไรเตอร์ คอนวอยรถบรรทุก ไซโลขนาดใหญ่ในปี 2547 พร้อมสร้างโรงสีขนาดกำลังผลิต 4,000 ตันต่อวันจากเดิมที่เคยผลิตได้แค่ 500 ตันต่อวัน ตามด้วยโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังแกลบ 20 เมกะวัตต์ จำนวน 2โรง ก่อนถูกธนาคารไทยธนาคาร เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ในยอดหนี้ 1,760 ล้านบาทจากยอดหนี้ 9 ธนาคารพาณิชย์วงเงิน 12,000 ล้านบาท ที่ล่าสุดกลายเป็นไซโลร้างกลางทุ่งนาเมืองพิจิตรอยู่ในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น