xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าหนุน"สปา"ยุคค้าเสรี ปี 58 ไทยถือหุ้นสปานอกได้ 70%-ญี่ปุ่นลดภาษี 0%ปี 60

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – “พาณิชย์-คลัง-มรช.” ร่วมหนุนสปาไทยออกสู่ตลาดโลก ภายใต้ยุคข้อตกลงการค้าเสรี หลังธุรกิจสปาเติบโตต่อเนื่องจากปี 46 มีแค่ 20 รายล่าสุดมีผู้ประกอบการมากกว่า 200 ราย ทำรายได้เข้าประเทศกว่า 8,300 ล้านบาทเมื่อปี 51 เผยปี 58 ผู้ประกอบการไทยสามารถถือหุ้นสปาใน 10 ชาติอาเซียนได้ถึง 70% แถมญี่ปุ่นเปิดกว้างมากขึ้น คาดใช้ภาษี 0%กลุ่มสินค้าสปาไทยได้ในปี 60


รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่าวันนี้ (27 มี.ค.) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดสัมมนาสร้างความรู้เรื่อง "จากสวนสู่สปา:ภูมิปัญญาไทยก้าวไกลในการค้าเสรี" ณ ห้องประชุมกาสะลองคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรช.) โดยมีนายพินิจ หาญพาณิชย์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิด และมีผู้ประกอบการเกี่ยวกับสปาและสมุนไพรในพื้นที่ จ.เชียงราย เข้าร่วมรับฟังประมาณ 800 คน

ภายในงานยังมีการฉายวีดีทัศน์จาก ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งมีเนื้อหาว่าประเทศไทยโดยเฉพาะ จ.เชียงราย มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยสมุนไพรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสปา รวมทั้งมีภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพมานาน

ดร.ณรงค์ชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเนื่องจากในยุคปัจจุบันมีการเปิดเสรีกับต่างประเทศ ทำให้ธุรกิจสปาที่จะก้าวเข้าสู่ธุรกิจที่ดีจะต้องมีการพัฒนาให้เป็นมืออาชีพ โดยสปาหรือมีความหมายว่าการบำบัดรักษาสุขภาพด้วยน้ำ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือการบำบัดด้วยการชำระล้างร่างกาย และการนำสมุนไพรใส่ลงไปในร่างกาย

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ "จิตบำบัด" เพราะสปาที่ดีที่สุดคือการบำบัดทั้งกายและใจ เช่น มีดนตรี ภาพ สมุนไพร วัสดุอุปกรณ์ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญหากทำให้ดีก็จะติดตลาด และทำให้เกิดธุกิจที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย

ด้าน ดร.คณิศ แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ธุรกิจสปากำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะหลายประเทศให้ความนิยม เช่น สปาที่ประเทศญี่ปุ่นคิดราคาแพงโดยใช้บริการแค่ 30 นาทีราคา 2,000 บาท เป็นต้น ในส่วนของประเทศไทยก็มีธุรกิจนี้มานานจึงควรมีการพัฒนาให้ก้าวสู่มืออาชีพเพื่อรองรับข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ

น.ส.ไพลิน ผลิตวานนท์ นักวิจัยสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่าธุรกิจสปาเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2546 มีผู้ประกอบการธุรกิจสปาเพียงประมาณ 20 ราย แต่ปี 2551 ที่ผ่านมามีสูงถึง 210 ราย สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศได้กว่า 8,300 ล้านบาท สามารถรองรับธุรกิจและผู้ผลิตอื่นๆ ได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นอกจากนี้จากความนิยมในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ฯลฯ

ทำให้ผู้ประกอบการสปามีขีดความสามารถออกไปประกอบการยังประเทศต่างๆ เหล่านี้ เช่น ญี่ปุ่นที่เคยกำหนดให้ผู้มีประสบการณ์ 10 ปีเข้าไปตั้งกิจการในญี่ปุ่นได้ ก็ลดลงเหลือเพียง 5 ปี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาหลายอย่างที่สปาไทยต้องปรับปรุง เช่น มาตรฐานวัตถุดิบและการให้บริการ การไม่มีใบอนุญาต ฯลฯ

ขณะที่ ดร.บุณยฤทธิ์ กัลยาณิมิตร ผู้อำนวยการสำนักงานเจรจาการค้าและการลงทุน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่าปัจจุบันมีข้อตกลงการค้าเสรีที่เกี่ยวข้องกับสปาไทยอยู่หลายข้อตกลง ได้แก่ ข้อตกลงไทย-ออสเตรเลีย ซึ่งหลังบรรลุข้อตกลงเมื่อปี 2548 ทำให้ออสเตรเลียอนุญาตให้ไทยเข้าไปฝึกอบรมสปาในออสเตรเลียได้ ผลพลอยได้ คือ สามารถส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสปา 7 ประเภท คือ น้ำมันระเหยหอม เทียนหอม แชมพู น้ำหอม สบู่ โลชั่น เกลืออาบน้ำ โดยเสียภาษีในอัตรา 0%

นอกจากนี้มีข้อตกลงไทย-นิวซีแลนด์ ที่ลดภาษาสินค้า 7 ประเภทเหลือ 0% เช่นกัน ด้านข้อตกลงอาเซียน-จีน ก็ลดภาษีสินค้า 7 ประเภทเหลือ 0% ในปี 2553 จากเดิมที่ในปัจจุบันอยู่ในอัตรา 5-7% ขณะที่ข้อตกลงอาเซียน-เกาหลีใต้ นั้นยังไม่มีข้อผูกพันใดๆ เพราะเกาหลีใต้ค่อนข้างสงวนเรื่องนี้ แต่ก็อยู่ระหว่างการเจราจากันต่อไป ส่วนข้อภายในตกลงอาเซียน 10 ประเทศด้วยกันเองนั้น ก็จะทำให้ธุรกิจไทยสามารถเข้าไปเปิดกิจการสปาในประเทศสมาชิกโดยถือหุ้นได้ถึง 70% ในปี 2558 เป็นต้นไป

ส่วนไฮไลต์ของข้อตกลงคงเป็นระหวางไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นให้กับไทยอย่างมากโดยอนุญาตให้ผู้ฝึกสอนสปาขอวีซ่าได้ 1-3 ปีและสามารถต่อได้อีก ส่วนการส่งผู้ให้บริการเข้าไปอยู่ระหว่างการเจราจา โดยปัจจุบันได้ผ่านการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรได้อนุญาตให้ไปเจรจากับญี่ปุ่นตามรัฐธรรมนูญใหม่ของไทยแล้ว คาดว่าจะเจรจาตั้งแต่เดือน เม.ย.นี้เป็นต้นไป และตั้งเป้าให้แล้วเสร็จในเดือน ต.ค.2552 นี้ต่อไป ส่วนสินค้า 7 ประเภทที่เกี่ยวกับสปาดังกล่าวญี่ปุ่นจะลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% ในปี 2560 หลังจากที่ในปัจจุบันจัดเก็บภาษีสูงมาก เช่น โลชั่นเก็บภาษีสูงถึง 40% เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น