เชียงราย – ชาวบ้านแม่สายฮือประท้วงไล่โรงงานผลิตผลไม้แช่อิ่มกลางชุมชน ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง ขณะที่อุตสาหกรรมจังหวัดสั่งหยุดเดินเครื่องก่อน พร้อมให้ย้อนกลับไปเริ่มต้นกระบวนการประชาพิจารณ์-ขออนุญาตตั้งโรงงานใหม่
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า กลุ่มชาวบ้านจาก 5 หมู่บ้านในพื้นที่ ต.โป่งผา อ.แม่สาย ประมาณ 200 คน พากันมาชุมนุมหน้าโรงงาน บริษัท ณัฐกิจอินเตอร์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารและผลไม้แช่อิ่ม เช่น กระเทียมโทนดอง บ๊วยดอง ฯลฯ โดยการมาชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านเมื่อ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา เพราะต้องการให้โรงงานดังกล่าวย้ายออกไป โดยระบุว่าได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นของน้ำที่ใช้จากโรงงาน
ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้ผลัดกันกล่าวปราศรัย และด้วยมวลชนที่มีจำนวนมากดังกล่าว ทำให้ตำรวจ สภ.แม่สาย นำกำลังไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยด้วย และนายวิศิษฐ์ สิทธิสมบัติ นายอำเภอแม่สาย รวมทั้ง พ.ต.อ.ประจักษ์ อวัยวานนท์ ผกก.สภ.แม่สาย ,นายเรืองสักดิ์ โฆษครรชิต อุตสาหกรรม จ.เชียงราย ได้เดินทางมาเจรจากับกลุ่มชาวบ้าน จากนั้นก็ได้ขอเข้าไปสำรวจภายในบริเวณโรงงาน
ทั้งนี้พบว่าภายในโรงงานส่งกลิ่นเหม็นออกมาจริง โดยเฉพาะที่บริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียและทางเจ้าหน้าที่ได้หารือกับทางเจ้าของโรงงานให้มีการแก้ไขเร่งด่วนภายใน 30 วัน ซึ่งทางโรงงานก็รับปาก และเมื่อเจ้าหน้าที่มาบอกให้ชาวบ้านก็ถูกชาวบ้านโห่ร้องด้วยความไม่พอใจและขอยืนยันว่า จะขอให้ปิดโรงงานแห่งนี้และให้รีบย้ายโรงงานไปจากพื้นที่นี้โดยด่วน แม้เจ้าหน้าที่จะอธิบายอย่างไรกลุ่มชาวบ้านก็ไม่รับฟังและขู่ว่าหากโรงงานไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ทางชาวบ้านจะปิดถนนทางเข้าโรงงานด้วย
ด้าน นายณัฐนันท์ ลูกชายเจ้าของโรงงานและเป็นผู้ดูแลเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนได้ประสบอุบัติเหตุทำให้ไม่ได้ไปดูแลเครื่องบำบัดน้ำเสีย ทำให้น้ำในบ่อบำบัดส่งกลิ่นเหม็น ดังนั้นตนจึงยินยอมที่จะหยุดการผลิตและรอซ่อมแซม และจัดการสิ่งแวดล้อมภายในโรงงานให้ได้มาตรฐานก่อนแล้วค่อยกลับมาดำเนินการตามปกติ
รายงานข่าวแจ้งว่า ต่อมานายเรืองศักดิ์ โฆษครรชิต อุตสาหกรรม จ.เชียงราย ได้แจ้งให้โรงงานยุติการผลิตลงก่อน เพราะส่งผลกระทบและการก่อสร้างก็ไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์ จากนั้นให้ร่วมกับกลุ่มชาวบ้านตั้งกรรมการดูแลไม่ให้มีการลักลอบผลิต ส่วนโรงงานหากประสงค์จะประกอบธุรกิจต่อก็ให้ยื่นเรื่องขอทำการตั้งโรงงานใหม่และให้ทำประชาพิจารณ์ก่อนด้วย ทำให้กลุ่มชาวบ้านพอใจและแยกย้ายกันกลับ