บุรีรัมย์ - แฉ อปท.บุรีรัมย์ ทั้งเทศบาล-อบต.จ่ายเบี้ยยังชีพผิดระเบียบมุ่งหวังแค่คะแนนเสียงอื้อ เผย สตง.ตรวจสอบทำผิดถูกเรียกเงินคืนหลายแห่ง พบเป็น ขรก.บำนาญ-ลูกหลานร่ำรวย-เข้าขั้นเศรษฐีมีที่ดินให้เช่า-บ้านหลังใหญ่โต–ขับรถเก๋งคันหรู ได้รับเบี้ยยังชีพสงเคราะห์ผู้สูงอายุเพียบ ท้องถิ่นจังหวัดฯ เต้นสั่งยึดระเบียบมหาดไทย เป็นสำคัญ ส่วนนโยบายเร่งด่วนรัฐบาลจ่ายเบี้ยยังชีพ 6 เดือนล่าสุดทั้งจังหวัดยื่นขึ้นทะเบียนเฉียด 5 หมื่นคน
วันนี้ ( 24 มี.ค.) นายวีระชัย ประยูรเมธา รักษาราชการแทนท้องถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เรื่องการเบิกจ่ายเงินเบี้ยยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ในจ.บุรีรัมย์ ให้กับผู้สูงอายุ คนพิการ และ ผู้ป่วยเอดส์ กำลังมีปัญหาเพราะที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลต่างๆ จ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปแบบประชานิยมหวังแค่คะแนนเสียง ไม่ตรวจสอบรายละเอียด ว่ามีฐานะยากจนจริงหรือไม่ บางคนเป็นข้าราชการบำนาญก็ได้รับเงิน บางคนมีลูกมีหลานร่ำรวยอุปการะเลี้ยงดูอยู่ก็ได้รับ หลายคนมีที่ดินให้เช่า บ้านหลังใหญ่โต ขับรถยนต์เก๋งคันหรูก็ได้รับเบี้ยสงเคราะห์คนชรา ซึ่งผิดหลักเกณฑ์ของกระทรวงมหมาดไทย
ด้วยเหตุนี้ ที่ผ่านมา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) จึงเข้าตรวจบัญชีการใช้เงิน พบว่ามี อบต. และ เทศบาล ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ หลายแห่ง ทำผิดระเบียบและต้องถูกเรียกเงินคืน อย่างเช่น ที่ เทศบาลตำบลบ้านกรวด ที่ถูกเรียกเงินคืน และมีการร้องเรียนอยู่ขณะนี้ ทำให้ขณะนี้ อบต. และเทศบาลหลายแห่ง ต้องเข้มงวดในการพิจารณาหลักเกณฑ์ ของผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าว และมีการตัดรายชื่อผู้สูงอายุที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ออกไป ทำให้ผู้เสียประโยชน์จำนวนมากออกมาร้องเรียน
“ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ยึดระเบียบว่า ด้วยการสงเคราะห์ผู้สูงอายุและคนพิการอย่างเคร่งครัด โดยยึดเจตนาสุจริตเป็นที่ตั้ง อย่าทำแบบประชานิยม ต้องการแต่คะแนนเสียงไม่คำนึงถึงกฎระเบียบ เพราะ สตง. มาตรวจสอบ จะถูกเรียกเงินคืนเหมือนอย่างที่ หลายแห่งเจอมาแล้ว ส่วนผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปี พิการ และผู้ป่วยเอดส์ ขาดคนดูแล รับรองว่าจะได้รับตามปกติ ไม่มีการตัดสิทธิหรือกลั่นแกล้งกันอย่างเด็ดขาด ส่วนพวกที่จนไม่จริงแล้วอยากจน ต้องตัดชื่อออกไป เพราะผิดระเบียบ” นายวีระชัยกล่าว
นายวีระชัย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วน โดยจัดสรรเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ยื่นแสดงความจำนงขอขึ้นทะเบียนเพื่อรับการสงเคราะห์ตามหลักเกณฑ์ ที่รัฐบาลกำหนด โดยจะจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 ตามโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในอัตราคนละ 500 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน (เม.ย.-ก.ย. 2552)
จากการตรวจสอบรายชื่อผู้สูงอายุ ที่มาขึ้นทะเบียนรับเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุในจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้ง 23 อำเภอ ที่ผ่านการประเมินคุณสมบัติตามที่รัฐบาลกำหนดซึ่งมียอดรวม 49,681 ราย โดยอำเภอที่มียอดของการส่งบัญชีรายชื่อผู้สูงอายุมากที่สุด ได้แก่ อ.ลำปลายมาศ 9,026 ราย รองลงมา อ.เมืองบุรีรัมย์ 6,274 ราย อ.ประโคนชัย 4,657 ราย อ.นางรอง 4,361 ราย และ อ.กระสัง 4,131 ราย ซึ่งทุกอำเภอมีมาตรการตรวจสอบก่อนนำส่งกับทางจังหวัดฯ พบว่ายังคงมีอีกหลายอำเภอมีรายชื่อตกหล่น ขณะที่ผู้สูงอายุบางคนไม่เข้าใจกับโครงการดังกล่าวจนเสียสิทธิหลายราย
“ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือรายชื่อที่ซ้ำกับรายชื่อที่รับเงินจาก อบต.และเทศบาล ขณะที่บางคนตัวตนไม่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งได้มีคำสั่งให้ท้องถิ่นอำเภอ อบต.และเทศบาลทุกแห่ง ได้ตรวจสอบอย่างละเอียด ถูกต้องต่อไป” นายวีระชัย กล่าว