บุรีรัมย์ - แกนนำเกษตรกรผู้ปลูกมันฯ 3 อำเภอ จ.บุรีรัมย์ เรียกร้องให้ทางจังหวัดและรัฐบาลเปิดจุดรับจำนำอีก 3 จุด พร้อมเพิ่มปริมาณโควต้ารับจำนำอีก 2 ล้านตัน จากเดิม 10 ล้านตันทั่วประเทศพร้อมขยายระยะเวลาจำนำที่จะสิ้นสุด เม.ย.นี้ออกไปอีก ชี้ บุรีรัมย์ยังเหลือมันฯไม่ได้เก็บกู้อีกกว่า 5 แสนตัน ผวาถูกนายทุนกดราคาเดือนร้อนหนักแน่
วันนี้ (17 มี.ค.) นายอัครวัฒน์ กิตติพงษ์ภากรณ์ แกนนำเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง พร้อมเกษตรกรผู้ปลูกมันสำประหลังใน 3 อำเภอ จ.บุรีรัมย์ ประกอบด้วย อ.ปะคำ, โนนสุวรรณ และ อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ได้รวมตัวกันออกมาเรียกร้องให้ทางจังหวัดบุรีรัมย์ และรัฐบาล เปิดจุดรับจำนำทั้งในและนอกพื้นที่เพิ่มอีก 3 จุด จากเดิมมี 5 จุด เป็น 8 จุด เนื่องจากผู้ประกอบการโรงแป้งมันและลานมันสำปะหลัง ที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำมันสำปะหลังของรัฐบาล มีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรต้องนำมันฯ มาเข้าคิวนอนรอหลายวัน เพื่อเข้าร่วมโครงการจำนำ จนหัวมันฯเกิดเน่าเสีย
ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงนี้เกษตรกรในทุกพื้นที่ต่างเร่งเก็บกู้มันสำปะหลัง เพื่อแย่งกันเข้าร่วมโครงการรับจำนำฯ ที่ใกล้จะสิ้นสุดลงในเดือนเม.ย.ที่จะถึงนี้ อีกทั้งเกษตรกรเกรงว่ามันสำปะหลังจะเต็มโควต้าที่รัฐบาลตั้งไว้ ซึ่งอาจต้องนำมันฯ ไปขายให้กับผู้ประกอบการโรงแป้งมันและลานมันฯ ที่ให้ราคาต่ำเพียงตันละ 1,200 บาท ต่างจากราคาโครงการรับจำนำของรัฐบาลอยู่ที่ตันละ 2,000 บาท
นอกจากนั้น เกษตรกรยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มโควต้าการรับจำนำ เพื่อรองรับผลผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกรเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านตันทั้งประเทศ จากเดิมที่รัฐบาลกำหนดโควต้ารับจำนำ 10 ล้านตัน เพราะขณะนี้มันสำปะหลังของเกษตรกรที่ยังไม่เก็บกู้นำออกสู่ตลาดยังมีอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะที่ จ.บุรีรัมย์ ยังมีเกษตรกรที่ยังไม่เก็บกู้มันฯ นำมาเข้าร่วมโครงการร่วม 50% หรือ กว่า 500,000 ตัน จากพื้นที่ปลูกทั้งจังหวัดกว่า 200,000 ไร่ คาดว่ามีผลผลิตรวมมากกว่าล้านตัน แต่ทั้งจังหวัดได้รับโควต้าเพียง 5 แสนตัน เท่านั้น
นายถนอม พาชัย อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 57 ม.12 ต.ดงอีจาน อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง กล่าวว่า ตนปลูกมันสำปะหลังทั้งหมด 50 ไร่ ขณะนี้ยังไม่ได้ทำการเก็บกู้ เพราะเกรงว่าหากเก็บกู้แล้วไม่สามารถนำเข้าร่วมโครงการรับจำนำได้ จะทำให้หัวมันเน่าเสีย เพราะช่วงนี้ลานมันฯ รับจำนำหัวมันสดจากเกษตรกรในปริมาณน้อย โดยลานมันฯอ้างว่าไม่มีสถานที่เก็บ และระบายออกได้เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกทำให้มันมีสภาพเปียกชื้น แต่หากเกษตรกรจะนำไปขายก็ได้ราคาต่ำเพียงตันละ 1,200 บาทเท่านั้น
“หากสิ้นสุดโครงการรับจำนำในเดือนเมษายนนี้ เกษตรกรไม่สามารถนำมันมาเข้าร่วมโครงการได้หมด และรัฐบาลไม่ขยายระยะเวลา หรือไม่เพิ่มโควตาการจำนำ จะทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน จะถูกพ่อค้ากดราคารับซื้อถูกลง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไม่มีเงินที่จะไปชำระหนี้ ธ.ก.ส.ที่จะครบกำหนดในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ เพราะเกษตรกรทุกรายมีหนี้สินจากการกู้ยืมเงินมาลงทุนปลูกมันสำปะหลังด้วยกันทั้งนั้น” นายถนอม กล่าว