น่าน - กลุ่มผู้ขอขึ้นทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์จังหวัดน่าน กว่า 200 คน เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด กรณีความไม่ชัดเจนและความล่าช้าในการขึ้นทะเบียน ส่งผลให้ชาวบ้านเดือดร้อนจากการถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง
รายงานข่าวจากจังหวัดน่าน แจ้งว่า วันนี้ (17 มี.ค.) ได้มีตัวแทนจากกลุ่มผู้ขอขึ้นทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์จังหวัดน่าน ทั้ง 15 อำเภอ กว่า 200 คน รวมตัวกันที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อขอเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องการออกใบอนุญาตเลื่อยโซ่ยนต์ ต่อ นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน หลังจากชาวบ้านที่ครอบครองเลื่อยโซ่ยนต์ และอยู่ระหว่างการพิจารณาใบอนุญาต แต่ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจับกุมดำเนินคดีหลายครั้ง โดยชาวบ้านอ้างว่า การตัดไม้เป็นเพียงการใช้ในครัวเรือนและการทำอาชีพรับจ้าง ซึ่งไม่มีการกระทำความผิดกฎหมายแต่อย่างใด
จึงเกิดคำถามถึงความล่าช้า และไม่ชัดเจนในหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาต โดยเฉพาะกลุ่มผู้ขอขึ้นทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์จากอำเภอบ้านหลวง จำนวน 69 ราย ซึ่งไม่ได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเลย เนื่องจากทางสมาคมบ้านหลวงหวงป่า และประชาคมอำเภอบ้านหลวง ทำหนังสือคัดค้านการออกใบอนุญาตการขึ้นทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ เพราะเกรงว่าจะเป็นสาเหตุของการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่บ้านหลวง เช่นเดียวกับที่ อำเภอนาหมื่น และ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งไม่มีการทำประชาคมในเรื่องดังกล่าว แต่มีหนังสือคัดค้านการออกใบอนุญาตขึ้นทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ ส่งผลให้ทางเจ้าหน้าที่ไม่สามารถออกใบอนุญาตขึ้นทะเบียนได้ ส่วนผู้ขอขึ้นทะเบียนในอำเภออื่นๆนั้น ติดขัดที่หลักเกณฑ์ จึงไม่สามารถออกใบอนุญาตได้เช่นกัน
ด้าน นายคมศักดิ์ โสภารัตน์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน ได้เข้าพบตัวแทนกลุ่มฯ เพื่อชี้แจงในรายละเอียดว่าขณะนี้มีผู้มาขอขึ้นทะเบียนจำนวนทั้งหมด 1,276 ราย จำนวนเลื่อยโซ่ยนต์ 1,434 เครื่อง โดยหลักเกณฑ์ในการขอขึ้นทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ จะต้องเป็นผู้มีอาชีพ หรือกิจการที่จำเป็นต้องใช้เลื่อยโซ่ยนต์ เช่น กิจการค้าไม้ อาชีพเผาถ่าน หรืออาชีพรับจ้างตัดไม้ในสวนป่า หรือต้องเป็นผู้มีพื้นที่สวนป่าเกินกว่า 50 ไร่ ซึ่งการเพิ่มเงื่อนไขนี้ก็เพื่อเป็นการป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า
แต่กลุ่มผู้เรียกร้อง ได้แย้งคัดค้านว่าไม่ทราบรายละเอียดตรงนี้ ทราบแต่เพียงว่า การขอขึ้นทะเบียน เพื่อวัตถุประสงค์ในการ ใช้สอยในครัวเรือน และเพื่อกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่นในกรณีเกิดภัยพิบัติในชุมชน มีไม้ใหญ่ล้มทับขวางทางในหมู่บ้าน จะได้ใช้เลื่อยโซ่ยนต์ให้เป็นประโยชน์ได้ และการขึ้นทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ก็เพื่อให้ทางราชการตรวจสอบได้ง่าย เป็นการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า ส่วนเงื่อนไขว่าชาวบ้านต้องมีพื้นที่สวนป่าเกินกว่า 50 ไร่ นั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นที่ลาดเชิงเขา ชาวบ้านจะมีสวนป่าก็เพียงรายละ 2-3 ไร่ เท่านั้น หลักเกณฑ์ข้อกำหนดจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ด้าน นายสุนทร รัตนวราหะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน หลังได้รับทราบปัญหา และรายละเอียดคำชี้แจงต่างๆแล้ว ได้ให้แนวทางในการแก้ปัญหา 3 ข้อ คือ 1.ให้กลุ่มผู้ขอขึ้นทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ของอำเภอบ้านหลวง จำนวน 69 ราย ทำความตกลงกับทางสมาคมบ้านหลวงหวงป่า และประชาคมอำเภอบ้านหลวง เพื่ออนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนออกใบอนุญาตเลื่อยโซ่ยนต์ในพื้นที่ได้ 2.ในรายที่ติดขัดเรื่องหลักเกณฑ์และคุณสมบัติ ให้มีการพิจารณาในหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ขอขึ้นทะเบียนใหม่อีกครั้ง โดยจะต้องให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และ 3.ระหว่างการรอพิจารณาออกใบอนุญาต จะให้มีการผ่อนผันการจับกุม ซึ่งต้องไม่เป็นการกระทำความผิดกฎหมาย
โดยกลุ่มผู้เรียกร้อง หลังได้รับฟังคำชี้แจงและแนวทางแก้ไขปัญหาแล้ว เป็นที่น่าพอใจ จึงได้สลายการชุมนุม และได้เตรียมการในการหารือกับทางสมาคมบ้านหลวงหวงป่า เพื่อหาข้อตกลงในเรื่องการขึ้นทะเบียนออกใบอนุญาตได้