xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนฟื้นฟูฯ มหาสารคามนำร่องระบบน้ำหยดสู้ภัยแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มหาสารคาม - สำนักงานกองทุนฟื้นฟูจังหวัดมหาสารคาม จัดทำแปลงเรียนรู้สู้ภัยแล้ง วางแผนปลูกพืชใช้น้ำน้อย แต่ให้ผลตอบแทนสูง โดยใช้ระบบน้ำหยด เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง แก้ไขปัญหาเกษตรกรขาดแคลนน้ำ ช่วยเหลือสมาชิกกองทุนฯ กว่า 40,000 ราย

จังหวัดมหาสารคามเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ประสบกับปัญหาภัยแล้งทุกปี โดยในปีนี้ทางจังหวัด ได้ประกาศตัวเลขผู้ประสบภัยแล้งไปแล้วจำนวน 1,630 หมู่บ้าน 117 ตำบล มีครัวเรือนที่ได้รับความเดือนร้อนจำนวน 117,722 ครอบครัว จำนวน 406,000 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 4 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเกษตรกร สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จำนวน 45,000 ราย เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสาขาจังหวัดมหาสารคามจะเข้าไปช่วยเหลือเป็นกรณีเร่งด่วน

โดยปีที่ผ่านมาทางกองทุนได้รับเงินช่วยเหลืออุดหนุนงบประมาณเป็นจำนวน 7 ล้านบาทเศษ เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้และฝึกทักษะการพัฒนาอาชีพแก่สมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ขอรับการอุดหนุนงบประมาณ

ดร.วิญญู สะตะ หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดมหาสารคามส่อเค้าเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นทุกปี อันเป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อน ล่าสุดราษฎรทั้ง 13 อำเภอ จำนวนราษฎร กว่า 400,000 ราย ต่างได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอโกสุมพิสัย บรบือ และอำเภอชื่นชม ที่จังหวัดประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

ผลการสำรวจล่าสุด มีสมาชิกกองทุนฟื้นฟูประสบปัญหาความเดือดร้อนจากภัยแล้งแล้ว กว่า 45,000 ราย รวม 128 องค์กร ที่ผ่านมาวิธีการแก้ไขปัญหาระยะยาวเพื่อสู้กับภัยแล้งที่คุกคามเกษตรกรในทุก ๆ ปี ไม่ว่าจะเป็นการขุดสระ ลอกบ่อ และขุดเจาะน้ำบาดาล ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อย่างเต็มที่

โดยทางกองทุนฯ ได้จัดทำแปลงเรียนรู้สู้ภัยแล้ง ควบคู่ไปกับงานวิจัยเชิงปฏิบัติการระบบน้ำหยดเพื่อการเกษตร โดยใช้ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ต.แวงน่าง อ.เมือง จ.มหาสารคาม เป็นพื้นที่นำร่อง โดยการนำระบบน้ำหยดมาใช้ ซึ่งได้รับงบสนับสนุนมาจำนวน 200,000 บาท เพื่อวางระบบน้ำหยดรอบแปลงเกษตรกร

ซึ่งระบบน้ำหยดจะช่วยให้น้ำในเฉพาะจุด ทำให้ประหยัดน้ำ และพืชผักให้ได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ ไม่เหมือนกับการรดน้ำ หรือการใช้สปริงเกอร์ ที่จะทำให้สูญเสียน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์

โดยระบบน้ำหยดจะสามารถลดปริมาณการใช้น้ำให้แก่เกษตรกรถึง 50% แต่ได้ผลผลิตเท่าเดิม ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“หากโครงการนี้สำเร็จ ทางกองทุนจะถอดเป็นองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลักดันเป็นเชิงนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้จัดระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรในที่ดินของเกษตรกร และขยายผลไปยังเกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนให้ครอบครัวเกษตรกรในภาคอีสานได้อย่างแน่นอน” ดร. วิญญูกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น