xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนชา ชร.เดือดจี้รัฐยกเลิกภาษีสรรพสามิต - ขู่จะรวมกลุ่มกดราคากับเกษตรกรแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ประกอบการสวนชาในจ.เชียงรายรวมตัวเพื่อร้องเรียนให้รัฐยกเลิกภาษีสรรพสามิต
เชียงราย - ชาวสวนชาโวยรัฐเตรียมเก็บภาษีสรรพสามิตใบชาฐานเป็นสินค้าฟุ่มเฟื่อย ระบุต่างประเทศสนับสนุนให้มีการปลูกชาเพราะถือเป็นพืชเพื่อสุขภาพแต่ประเทศกลับเห็นเป็นพืชอันตรายขู่หากไม่ยกเลิกการเกษภาษีสรรพสามิตจะรวมตัวกันไปกดราคากับเกษตรกรเพื่อกดดันให้เกษตรกรไปร้องรัฐที่ส่วนกลางเอง ทั้งเตรียมยื่นหนังสือคัดค้านผ่านผู้ว่าฯ ก่อนถึงคลัง

วันนี้ (15 มี.ค.) กลุ่มผู้ประกอบการใบชาใน จ.เชียงราย แถลงข่าวกรณีได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลต่อเรื่องใบชาเนื่องจากไม่เห็นด้วยที่การกระทรวงการคลังจะให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าฟุ่มเฟือยและทำลายสุขภาพโดยผนวกกับเครื่องดื่มประเภทชาอยู่ในประเภทเดียวกับกาแฟ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ฯลฯ พร้อมกับมีมติว่าจะมีการไปยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เพื่อไปยังกระทรวงการคลังก่อนและหากไม่ได้ผลจึงค่อยหาวิธีการดำเนินการต่อไป

นายกำจร มานิตย์วิรุฬห์ ประธานสหกรณ์ชาไทยเชียงราย กล่าวว่าการระบุให้ชาเป็นพืชที่ทำลายสุขภาพและฟุ่มเฟือยเป็นเรื่องที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก เพราะมนุษย์รู้จักดื่มชาเพื่อสุขภาพมานับ 1,000 ปี ผลการวิจัยต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศก็ระบุว่าเป็นสมุนไพรโดยเฉพาะลดไขมันในเส้นเลือด และหากมีการจัดเก็บภาษีสรรสามิตจากน้ำชาก็จะกระทบไปถึงเกษตรกรโดยเฉพาะตามแนวชายแดนตั้งแต่ จ.เชียงราย-จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 50,000 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกรวมกันกว่า 200,000 ไร่ โดยอยู่ใน จ.เชียงราย ประมาณ 80-90% ส่วนใหญ่คนเหล่านี้ดำเนินตามพระราชดำริของสมเด็จย่าที่ทรงส่งเสริมให้ปลูกพืชทดแทนดังคำขวัญ "พลิกแดนฝิ่นสู่ถิ่นชา" ทำให้เกษตรกรมีรายได้แทนการค้ายาเสพติด แต่ถ้ามีการระบุให้ชาเป็นพืชที่ทำลายสุขภาพผู้คนก็จะไม่บริโภคและยิ่งมีการเก็บภาษีสรรพสามิตอีก เกษตรกรคงอยู่ไม่ได้และเสี่ยงต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของรัฐทั้งในเรื่องยาเสพติด การตกงาน ฯลฯ

นายกำจร กล่าวอีกว่าเมื่อปี 2548 กระทรวงการคลังเคยพยายามจะใช้ข้อตกลงเสรีการค้าหรือเอฟทีเอระหว่างกลุ่มประเทศไทยกับกลุ่มอาฟต้า แต่ผู้ประกอบการร้องเรียนไม่ให้ดำเนินการ เพราะจะกระทบกับเกษตรกรโดยเฉพาะใบชาจากเวียดนามและศรีลังกาจะคุกคามหนัก ทำให้เรื่องนี้ชะลอไปแต่ล่าสุดรัฐบาลก็จะเปิดเอฟทีเอตามแผนเดิมนี้อีกในเดือน ม.ค.2553 ซึ่งหากเป็นจริงคาดว่าจะทำให้ตลาดใบชาภายในประเทศลดลงกว่า 50% และกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำดื่มชาสำเร็จรูปก็จะกดราคากับเกษตรกรลงอีก 50% แต่แทนที่รัฐจะป้องกันปัญหาและส่งเสริมกลับจะมาเก็บภาษีสรรพสามิตอีกจึงเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรไทยอย่างหนัก และเมื่อหันไปมองนานาประเทศที่ปลูกชา เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ฯลฯ ไม่เคยมีประเทศไหนกำหนดให้ชาของตัวเองเป็นสินค้าอันตรายและมาเก็บภาษีเช่นนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการปลูกชาตามพื้นที่ต่างๆ เช่น ดอยแม่สลอง ดอยวาวี ดอยพญาไพร ฯลฯ ออกมาแสดงความคิดเห็นซึ่งหลายคนไม่เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลดังกล่าว พร้อมขู่ว่าหากมีการจัดเก็บภาษีจากผู้ผลิตชาพร้อมดื่มก็จะทำให้ผู้ประกอบการหันไปกดราคากับเกษตรกร และจะทำให้เกษตรกรพากันไปที่กระทรวงและเทใบชาเพื่อประท้วง

ด้าน นายจำเริญ ชีวินเฉลิมโชติ ประธานคลัสเตอร์ชาเชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบัน จ.เชียงราย มีพื้นที่ปลูกชาอู่หลงประมาณ 20,000 ไร่ ชาอัสสัมประมาณ 30,000 ไร่ จำนวนเกษตรกรกว่า 20,000 ครัวเรือน และในแต่ละปีจะมีผลผลิตชาอู่หลงออกสู่ตลาดประมาณ 1,200 ตัน ชาอัสสัมประมาณ 1,100 ตัน สร้างรายได้เข้าจังหวัดไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ราคาจำหน่ายปัจจุบันสำหรับอู่หลงอยู่ที่กิโลกรัมละ 300-700 บาท อัสสัมกิโลกรัมละ 95-100 บาท อย่างไรก็ตามหากมีการจัดเก็บภาษีสรรสามิตจากอุตสาหกรรมผลิตชาพร้อมดื่ม กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านั้นก็จะกดราคากับเกษตรกร เมื่อผนวกกับมีการเปิดเอฟทีเอก็จะทำให้ราคาตกต่ำหนักผู้เกี่ยวข้องกับวงการใบชาไทยคงต้องเลิกกิจการกันไป ดังนั้นแทนที่รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีได้มากกลับจะไม่ได้ตามเป้าเพราะจะไม่มีคนให้เก็บ และผู้คนก็จะไม่ซื้อชามาดื่มเพราะราคาก็จะแพงขึ้นเพราะผู้ประกอบการบวกภาษีไปในราคาใหม่ด้วย

ด้าน ดร.พนม วิญญายอม ผู้อำนวยการสถาบันชา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่าชาเป็นยิ่งว่าสมุนไพรช่วยลดอนุมูลอิสระอันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ การไปกำหนดว่าน้ำชาไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพนั้นนอกจากจะถูกต่อต้านภายในประเทศไทยแล้ว ทั่วทั้งโลกก็คงจะออกมาต่อต้านด้วย เพราะการออกมาระบุว่าไม่เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพนั้นไม่เป็นความจริงและผลการศึกษายังพบอีกว่าน้ำชาไม่ได้มีสารที่จะเกิดโทษต่อร่างกายอีกด้วย

ผู้ประกอบการสวนชาในจ.เชียงรายรวมตัวเพื่อร้องเรียนให้รัฐยกเลิกภาษีสรรพสามิต
สวนชาในจังหวัดเชียงรายที่ได้รับผลกระทบ
กำลังโหลดความคิดเห็น