ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - กองทัพอากาศ 3 ประเทศ “ไทย-สิงคโปร์-อเมริกา” ส่งกำลังพลกว่า 2,500 นายเข้าร่วมฝึกผสมภายใต้รหัส “โคปไทเกอร์ 2009” ที่กองบิน 1 โคราช-กองบิน 23 อุดรธานี-อ.น้ำพอง ขอนแก่นและชัยบาดาล ลพบุรี 9-20 มี.ค.นี้ เผยนำเครื่องบินรบเข้าร่วมการฝึก 116 เครื่อง ฝึกบินมากกว่า 1,400 เที่ยว เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บและพัฒนาขีดความสามารถนักบินรวมถึงกระชับความสัมพันธ์กับมิตรประเทศ พร้อมร่วมจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการรักษาและมอบอุปกรณ์กีฬา- ดนตรีโรงเรียนในพื้นที่ฝึก
วันนี้ (14 มี.ค.) ที่กองบิน 1 กองพลบินที่ 2 กองบัญชาการยุทธทางอากาศ อ.เมือง จ.นครราชสีมา คณะสื่อมวลชนในจังหวัดนครราชสีมาเข้าเยี่ยมชมการฝึกผสม ภายใต้รหัส “โคปไทเกอร์ 2009” ซึ่ง เป็นการฝึกผสมพหุภาคีระหว่างกองทัพอากาศไทย, กองทัพอากาศสิงคโปร์ และ กองทัพอากาศ กองทัพเรือ และ นาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ การฝึกผสมโคปไทเกอร์ 2009 นี้ เป็นการฝึกครั้งที่ 15 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยบินที่เข้ารับการฝึกมีความพร้อมรบ และพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางอากาศผสม อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึก
โดยแบ่งการฝึกออกเป็น การฝึกปัญหาที่บังคับการ ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วระหว่างวันที่ 14-18 ธ.ค. 2551 ที่ฐานทัพอากาศปายาเลบาร์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และการฝึกภาคสนาม มีขึ้นระหว่างวันที่ 9-20 มี.ค. นี้ ที่ กองบิน 1 จ. นครราชสีมา, กองบิน 23 จ.อุดรธานี, สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศน้ำพอง จ.ขอนแก่น และ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จ.ลพบุรี
สำหรับการดำเนินการฝึก ได้จัดตั้งกองอำนวยการฝึกผสมโคปไทเกอร์ 2009 ที่ กองบิน 1 จ.นครราชสีมา มีผู้อำนวยการกองอำนวยการฝึกผสมของทั้ง 3 ประเทศ คือ นาวาอากาศเอกชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน รองเจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ เป็นผู้อำนวยการฝึกผสมฯ ฝ่ายไทย, Col. Ho Foo Sing เป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการฝึกผสมฯ ฝ่ายสิงคโปร์ และ Col.Robert Huston เป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการฝึกผสมฯ ฝ่ายสหรัฐอเมริกา ทำให้หน้าที่ควบคุม, ให้การสนับสนุนทางยุทธการและการข่าว, การประเมินผลการฝึกฯ โดยมีหน่วยบินและหน่วยต่อสู้อากาศยานเป็นหน่วยเข้าร่วมการฝึก นอกจากนี้กองทัพบก ยังได้ส่งชุดต่อสู้อากาศยานเข้าร่วมการประชุมวางแผนและเข้าร่วมการฝึกครั้งนี้ด้วย
การฝึกภาคสนามที่กองบิน 1 จ.นครราชสีมา ครั้งนี้ ได้วางแผนการฝึกบินไว้มากกว่า 1,400 เที่ยว แบ่งเป็น กองทัพอากาศไทย จำนวน 419 เที่ยวบิน, กองทัพอากาศสิงคโปร์จำนวน 324 เที่ยวบิน และกองทัพอากาศ กองทัพเรือ และนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกาจำนวน 324 เที่ยว ประกอบด้วย การฝึกเตรียมความพร้อมประกอบกำลังขนาดย่อม และการประกอบกำลังขนาดใหญ่ มีอากาศยานและยุทโธปกรณ์ที่เข้าร่วมการฝึกครั้งนี้ทั้งสิ้น 116 เครื่อง เช่น F-16B, F-5E/F, L-39ZA/ART, ALPHA JET, UH-1H ของกองทัพอากาศ F-16C/D, F-5S/T, E-2C, SUPER PUMA จากกองทัพอากาศสิงคโปร์ และ F-15C/D, A-10, E-3B, KC-135R, F/A-18D จากกองทัพอากาศ กองทัพเรือ และ นาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา รวมกำลังพลที่เข้ารับการฝึกทั้งสิ้น 2,570 นาย
สำหรับการฝึกภาคสนามแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การฝึกภาคอากาศ ประกอบด้วย การบินขับไล่ขั้นมูลฐาน และยุทธวิธีการรบในอากาศระหว่างเครื่องบินต่างแบบ, การป้องกันทางอากาศเชิงรุกและเชิงรับ, การขัดขวางทางอากาศ, การรบกวนเรดาร์ และวิทยุสื่อสาร ส่วนที่ 2 คือการฝึกภาคพื้น ประกอบด้วย การบัญชาการ และการควบคุมการรบ, การวางกำลัง, การถอนกำลัง, การเคลื่อนย้ายหน่วยทางยุทธวิธี, การฝึกแลกเปลี่ยนและการต่อสู้อากาศยาน
นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มีการปฏิบัติการด้านพลเรือนจำนวน 7 แห่ง ซึ่งกองทัพอากาศของทั้ง 3 ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกร่วมกันจัดขึ้น ด้วยการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ดำเนินการตรวจรักษาโรคทั่วไป ตรวจฟัน-ถอนฟัน บริการตัดผม การแสดงดนตรี มอบสิ่งของ อุปกรณ์กีฬา และเลี้ยงอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา,ขอนแก่น,อุดรธานี และ จ.ลพบุรีด้วย