ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “โคปไทเกอร์ 2011” การฝึกสนธิกำลังทางอากาศ 3 ชาติใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือใต้ เปิดฉากแล้วที่กองบิน 1 โคราช “ไทย-สิงคโปร์-สหรัฐฯ” ขนกำลังพลเข้าร่วมฝึกกว่า 2,000 นาย พร้อมเครื่องบินรบสมรรถนะสูงร่วม 100 ลำ ใช้พื้นที่การฝึกครอบคลุม 5 จังหวัด ยอมรับ F-16 ประสบอุบัติเหตุตกชัยภูมิ ถือเป็นบทเรียนสำคัญและนักบินต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้น เผย ทัพอากาศสหรัฐฯที่เข้าร่วมฝึกพร้อมกลับเข้าช่วย “ญี่ปุ่น” กู้วิกฤตภัยพิบัติสึนามิยักษ์ถล่มทันทีที่ได้รับคำสั่ง
วันนี้ (18 มี.ค.) นาวาอากาศเอก ถาวรวัฒน์ จันทนาคม รองเจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการฝึกผสมโคปไทเกอร์ 2011 (Cope Tiger 2011) เปิดเผยว่า กองทัพอากาศไทยร่วมกับกองทัพอากาศสิงคโปร์ และกองกำลังสหรัฐอเมริกา จัดการฝึกปฏิบัติการทางอากาศที่มีการสนธิกำลังทางอากาศ ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือใต้ ภายใต้รหัสการฝึก “Cope Tiger 2011” ระหว่างวันที่ 14-25 มี.ค.นี้โดยจัดตั้งกองอำนวยการฝึก ที่กองบิน 1 จ.นครราชสีมา
สำหรับการฝึกผสม Cope Tiger 2011 เป็นการฝึกใช้กำลังทางอากาศร่วมกันระหว่าง 3 ชาติ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ และ สหรัฐอเมริกา เพื่อดำรงความพร้อมรบของหน่วยบินที่เข้าร่วมการฝึก พัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางอากาศผสม และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึกให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
นาวาอากาศเอก ถาวรวัฒน์ กล่าวอีกว่า หน่วยที่เขาร่วมการฝึก ประกอบด้วยกองทัพอากาศ กองทัพบกไทย, กองทัพอากาศสิงคโปร์, กองทัพอากาศและนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา มีกำลังพลเข้าร่วมการฝึกกว่า 2,000 นาย โดยมีผู้อำนวยการฝึกฯ ของทั้ง 3 ชาติ เป็นผู้ควบคุมรับผิดชอบ
ส่วนรูปแบบการฝึก แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การฝึกปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise) เป็นการอบรมภาควิชาการ การฝึกวางแผนและการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์สมมติ โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้ารับการฝึกสามารถแก้ไขปัญหาในสถานการณ์สมมติที่กำหนดให้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติเมื่อเกิดสถานการณ์จริง ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วในช่วงระหว่าง 6-10 ธ.ค.2553 ณ ฐานทัพเรือชางฮี สาธารณรัฐสิงคโปร์
ส่วนที่ 2 คือ การฝึกภาคสนาม ( Field Training Exercise) ซึ่งจัดขึ้นที่ กองบิน 1 นครราชสีมา อยู่ในขณะนี้มีส่วนควบคุมการฝึกทำหน้าที่ควบคุมให้การสนับสนุนทางยุทธการ และการข่าว รวมถึงการประเมินผลการฝึก มีหน่วยบิน และหน่วยต่อสู้อากาศยานเป็นหน่วยเข้าร่วมการฝึก ใช้พื้นที่การฝึกที่กองบิน 1 จ.นครราชสีมา, กองบิน 23 จ.อุดรธานี สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศน้ำพอง จ.ขอนแก่น, สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จ.ลพบุรี, ศูนย์ฝึกทางยุทธวิธีกองทัพบก จ.ลพบุรี และ กองพลทหารม้าที่ 1 ค่ายพ่อขุนผาเมือง จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ของการฝึกที่เพิ่มเติมจากการฝึกทุกครั้ง
นาวาอากาศเอก ถาวรวัฒน์ กล่าวต่อว่า การดำเนินการฝึกจะครอบคลุมทั้งการฝึกภาคอากาศ และการฝึกภาคพื้น โดยการฝึกภาคอากาศ เป็นการฝึกยุทธวิธีการรบเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางอากาศ และประสบการณ์ของนักบิน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ประกอบด้วย การฝึกเตรียมความพร้อม (Work-Up Training) และการฝึกใช้กำลังทางอากาศขนาดใหญ่ ( Large Force Employment) โดยจะทำการฝึกตามภารกิจที่กำหนด เช่น การบินขับไล่ขั้นมูลฐาน, ยุทธวิธีการรบทางอากาศ ระหว่างเครื่องบินต่างแบบ, การป้องกันทางอากาศเชิงรุกและเชิงรับ, การขัดขวางทางอากาศและการสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด การค้นหา และช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ การลำเลียงทางอากาศยุทธวิธี ,การโดดร่มยุทธวิธี, การรบกวนเรดาร์และวิทยุสื่อสาร
โดยได้มีการวางแผนการฝึกไว้มากกว่า 1,100 เที่ยวบิน มีอากาศยานสมรรถนะสูงจากทั้ง 3 ประเทศ เข้าร่วมการฝึกจำนวน 98 เครื่อง เช่น F-16 A/B, F-16 ADF,F-5, ALPHA JET, L-39,C-130, UH-1 H จากกองทัพอากาศไทย , F-16 C/D, F-16 D+, F-5 S/T, G550 AEW, KC-130, CH-47 จากกองทัพอากาศสิงคโปร์ และ F-15 C/D, F/A-18,A-10, C-17A, HC-130, C-130, KC-135 จากกองทัพอากาศและนายกโยธินสหรัฐอเมริกา
ในส่วนภาคพื้น เป็นการฝึกของหน่วยต่อสู้อากาศยาน ประกอบด้วย การฝึกวางกำลังและเคลื่อนย้ายหน่วยยิง การฝึกแลกเปลี่ยน และการฝึกต่อสู้อากาศยาน
นาวาอากาศเอก ถาวรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์อุบัติเหตุเครื่องบิน F-16 ของกองบิน 1 จ.นครราชสีมา เฉี่ยวชนกันทางอากาศและทำให้สูญเสียเครื่องบินรบดังกล่าวไปทั้ง 2 ลำ ที่ จ.ชัยภูมิ ขณะเข้าร่วมการฝึกคอบร้าโกลด์นั้น ถือเป็นบทเรียนสำคัญของกองทัพอากาศและนักบิน ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นในการฝึกบินทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการฝึกนี้ เป็นช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่ม ทางกองทัพอากาศไทยได้ให้การสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ในการส่งเครื่องบิน C-130 ของกองทัพอากาศลำเลียงสิ่งของที่ได้รับบริจาคไปช่วยเหลือประชาชนชาวญี่ปุ่นผู้ประสบภัย และลำเลียงชาวไทยจากประเทศญี่ปุ่นกลับมาด้วย ขณะที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมการฝึกครั้งนี้ ก็เตรียมความพร้อมที่จะกลับเข้าร่วมภารกิจในการช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นได้ทันที หากทางสหรัฐฯมีคำสั่งมา