xs
xsm
sm
md
lg

‘เวหานุภาพไทย’ ความเป็นมาและเป็นไปในมือผู้ครองฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหตุการณ์เครื่องบินเอฟ 16 ตกที่จังหวัดชัยภูมิ
การโฉบเครื่องบินเอฟ 16 ไปแถวๆ ภูมิซรอล ถึงจะอ้างว่าเป็นการฝึกคอบร้าโกลด์ ก็ยากที่จะปฏิเสธว่าไม่มีนัยต่อสถานการณ์ความตึงเครียดชายแดนไทย-กัมพูชา

ถือเป็นการแสดงแสนยานุภาพทางอากาศในตัว แต่แสดงได้ไม่ทันจบองก์กองทัพอากาศไทยก็ต้องยิ้มเขินๆ กับข่าวเอฟ 16 ตกที่จังหวัดชัยภูมิ 2 ลำ ติดตามมาด้วยข่าวกองทัพอากาศขออนุมัติงบผูกพัน 3 ปี ระหว่างปี 2554-2556 จำนวน 6,900 ล้านบาท เพื่อใช้ซ่อมบำรุงรักษาและปรับปรุงขีดความสามารถเครื่องบินเอฟ 16 จำนวน 6 เครื่อง

เป็นเหตุให้เราต้องมาสำรวจความเป็นมาและเป็นไปของกองทัพอากาศไทยดูว่า แสนยานุภาพทางอากาศของไทยมันยังไงกันแน่ ผ่านสายตาของอดีตคนในกองทัพอากาศและพลเรือนผู้คลั่งไคล้การรบบนเวหา

1.

หากวัดกำลังรบโดยเปรียบเทียบในภูมิภาคนี้ พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี ข้าราชการบำนาญ อดีตนายทหารแห่งกองทัพอากาศไทย บอกว่า เราไม่แพ้ใคร ทำไมเขาจึงพูดเช่นนี้

เป็นเพราะกองทัพอากาศไทยมีวัฒนธรรมองค์กรยาวนานมากและได้รับการยอมรับว่าสามารถเจริญเติบโตได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาประเทศเจ้าอาณานิคมมาเป็นผู้จัดการให้ ซึ่งเกิดจากการเห็นความสำคัญของการบินทหารและพลเรือนในยุคประมาณร้อยปีก่อน

“ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพอากาศเราก็ได้เข้าร่วมในยุโรป สิ่งหนึ่งที่กองทัพอากาศไทยได้คือวัฒนธรรมการรบทางอากาศ ทำให้บุคลากรของกองทัพอากาศไทยมีวัฒนธรรมองค์กร ปรัชญา ความคิด เข้าใจสงครามทางอากาศได้ดีมาก ก่อนใครๆ ในภูมิภาคนี้ ยกเว้นญี่ปุ่น”

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการก่อตั้งโรงเรียนนายเรืออากาศในปี 2496 และต่อมาสหรัฐฯ ก็ให้การสนับสนุนไทยด้านการทหารตามบริบททางการเมืองของโลกในช่วงนั้น ทำให้ไทยมีเครื่องบินขับไล่เป็นครั้งแรกในปี 2500 และมีการฝึกบินร่วมกับสหรัฐฯ ในโอกาสต่อมา กระทั่งปี 2530 กองทัพอากาศไทยก็ได้พัฒนาเข้าสู่ยุคที่ 4 หมายถึงการมีเครื่องบินเอฟ 16 เข้าประจำการฝูงแรกในปี 2532 เมื่อเห็นพัฒนาการดังนี้แล้ว พล.อ.ท.วัชระ จึงกล้ายืนยันในศักยภาพของกองทัพอากาศไทย และอธิบายเพิ่มเติมว่า

“เรื่องความสามารถในการรบทางอากาศ จำนวนตัวเลขเครื่องบินไม่ใช่ความได้เปรียบ แต่อยู่ที่ทำให้เครื่องบินบินได้บ่อยครั้ง เช่น มีเครื่องบิน 1 ฝูง 20 เครื่อง ถ้าสามารถขึ้นบินได้ 3 ครั้งต่อวัน ก็จะเท่ากับ 60 ครั้งต่อวัน ขณะที่อุปกรณ์มีความสำคัญแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออยู่ที่ฝีมือของนักบิน ซึ่งเราสามารถพูดได้เลยว่า นักบินที่จบจากโรงเรียนนายเรืออากาศ เป็นนักบินมืออาชีพที่ได้มาตรฐาน”

ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ พล.อ.ท.วัชระ บอกว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย เนื่องจากการฝึกเครื่องบินรบนั้นมีความเสี่ยงมากกว่าการฝึกบินทั่วไป จึงไม่ได้หมายความว่าการที่เอฟ 16 ตก จะแปลความว่ากองทัพอากาศไทยล้าหลัง และก็ไม่จำเป็นต้องไล่กวดตามเทคโนโลยีซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากบ้านเราไม่ใช่ประเทศร่ำรวย ศักยภาพที่มีอยู่ขณะนี้ก็ถือว่าไม่เป็นรองใครแล้ว

แต่หากจะพัฒนาศักยภาพกองทัพอากาศไทย พล.อ.ท.วัชระ บอกว่า

“การพัฒนาต้องถามว่าเราจะพัฒนาแบบไหน แบบสหรัฐฯ อังกฤษ หรือนาโต้ ปัจจุบันผมว่า เราก็อยู่ในประเทศที่เป็นแนวหน้า แต่ที่เราตามสิงคโปร์เพราะเขามีเงินซื้อเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงในอากาศ นั่นหมายความว่ามีความสามารถในการบินได้นานที่สุด มีรัศมีทำการรบได้ไกล ขณะที่เรายังไม่มี ทีนี้ ถ้าเราจะพัฒนา เราก็ต้องพัฒนาสองอย่างคือมีเครื่องบินควบคุมการรบในอากาศได้มากกว่า 1 เครื่อง สอง-มีเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงในอากาศ”

2.

ข้างต้นคือมุมมองของคนในกองทัพ ส่วนมุมมองของพลเรือนที่คลั่งไคล้ เขามองกองทัพอากาศไทยต่างไปอีกแบบหนึ่ง

“เครื่องบินขับไล่จริงๆ ในบ้านเราที่ใช้กันอยู่ ก็จะมี เอฟ 5 กับ เอฟ 16 ที่เหลือจะเป็นเครื่องบินโจมตีและเครื่องลาดตระเวน ทีแรกเรามีเอฟ 5 ก่อนที่จะมี เอฟ 16 และก็ใช้ทั้งสองรุ่นมาถึงทุกวันนี้ ส่วนกริพเพนที่มาใหม่นั้น มันเป็นเครื่องบินที่ทำได้หลายอย่าง ได้ทั้งขับไล่ โจมตี และลาดตระเวน”

ข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ไม่ใช่ข้อมูลจากปากของทหารอากาศที่ไหน หากแต่เป็นข้อมูลจาก นายอนุสรณ์ (ขอสงวนนามจริง) ซึ่งเป็นพลเรือนที่หลงใหลเรื่องราวของเครื่องบินรบแบบเข้าเส้น

“ส่วนเอฟ 16 ที่เราใช้นั้น ถือว่ามีสมรรถภาพดี แต่อาจจะมีอายุการใช้งานที่นาน ทำให้ตอนนี้มีเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ที่มีสมรรถนะสูงออกมามากและแซงหน้าไปไกลแล้ว”

และเมื่อถามต่อว่า ในสายตาคนวงนอกที่ชอบเรื่องราวของเครื่องบินรบ ถ้าหากจะให้เขาเลือกเครื่องบินมาประจำการในกองทัพไทยเขาจะเลือกซื้อรุ่นไหน

“ตอนนี้เครื่องบินที่มีสมรรถนะดีที่สุดในโลก ก็น่าจะเป็น เอฟ 22 ของสหรัฐอเมริกา แต่ติดที่ว่าเขาไม่ยอมขายใคร ขนาดญี่ปุ่นมาขอซื้อยังไม่ได้เลย แต่มันก็ยังไม่ได้คอมแบต ปรู๊ฟนะ คือยังไม่ได้รบจริง แต่จะว่าไปใครจะมารบด้วย เพราะรุ่นนี้เรดาร์ตรวจแทบจะไม่ได้เลย เรียกว่าใครได้เห็นตัวปุ๊บก็โดนยิงปั๊บแล้ว

“ส่วนที่เราซื้อได้ถ้ามีเงิน ก็น่าจะเป็นไต้ฝุ่นของทางยุโรป ส่วนเอฟ 15 นี่มันเก่าไปแล้ว แต่สิงคโปร์กับเกาหลีเขาก็มีเอาไว้ประจำการ และเรื่องราคาของเครื่องบิน บอกว่าอันไหนถูกอันไหนแพงตายตัวไม่ได้ ขึ้นอยู่กับออปชันอื่นๆ ที่เราได้มามากกว่า บางทีรุ่นเดียวกัน แต่ที่อื่นเขาซื้อแพงกว่าเราก็มี นั่นแปลว่า เขาจะได้เครื่องที่มีออปชันเสริมดีกว่าไป มันขึ้นอยู่กับดีล

“อีกตัวที่น่าสนใจก็จะเป็นซู ของรัสเซีย แต่มันติดปัญหาเรื่องของการดูแลหลังการขายและระบบอาวุธที่เข้ากับของที่เรามีอยู่ไม่ได้ ถ้าตัดสองข้อนี้ออกไปก็ถือว่าคุ้มค่ามากเลยนะ”

ถึงตอนนี้หากเราได้กริพเพนเข้าประจำการเมื่อใด ก็จะถือว่าเป็นเครื่องบินรบที่ดีที่สุดของไทย ซึ่งน่าจะเป็นเสืออากาศที่เพิ่มเขี้ยวเล็บให้กองทัพอากาศไทยได้เป็นอย่างดี เราเชื่อว่ากองทัพอากาศไทยสามารถพัฒนาไปได้ไกลไม่แพ้ชาติใดในโลกหากมุ่งมั่น แต่สิ่งที่ต้องดำเนินไปพร้อมๆ กันก็คือความโปร่งใสในการจัดซื้อเครื่องบิน ที่มีข้อครหามาโดยตลอด มิฉะนั้น เวหานุภาพของไทยอาจไปไม่พ้นปลักคอร์รัปชัน

………

5 สุดยอดเครื่องบินรบในยุคปัจจุบัน

1.F-22 RAPTOR
เป็นเครื่องบินรบล่องหน ถูกร่วมกันพัฒนาขึ้นมาโดยบริษัท โบอิ้ง, ล็อกฮีด มาร์ติน, แพรต แอน วิทนี่ และ กองทัพอากาศสหรัฐฯ เพื่อทดแทนเครื่อง F-15 เครื่องบินล่องหน F-22 จะทำหน้าที่ เข้าประจำการควบคุมน่านฟ้า ในปี 2005 และจะ ทำการผลิตต่อไป จนถึงปี 2013

2.T-50
เครื่องบินรบลำแรกที่รัสเซียสร้างได้สำเร็จ ตั้งแต่การล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต เป็นเครื่องบินรบที่มีน้ำหนักเบา

3.F-35
ผลิตโดยบริษัทอุตสาหกรรมเครื่องบินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ บริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน และบริษัทอื่นๆ ที่ร่วมกันพัฒนา โดย F-35 นี้เป็นเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 ของกองทัพสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร ด้วยเทคโนโลยีสเตลธ์ที่ทำให้สามารถครองน่านฟ้าเหนือเครื่องบินขับไล่อื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติในการโจมตีเป้าหมายบนภาคพื้นดินอีกด้วย

4. su 30/35 SUKHOI Su-30
เป็นเครื่องบินรบแบบสองที่นั่ง (หน้า-หลัง) ใช้ต่อสู้ ขัดขวาง ทำการรบและฝึกบิน ซึ่งสร้างมาจากเครื่องต้นแบบ ที่มีความทันสมัย ของกองทัพอากาศรัสเซีย ออกบินครั้งแรก ในเดือน ธันวาคม ปี ค.ศ.1989 และเข้าประจำการ กับกองทัพอากาศ รัสเซีย ใน ปี ค.ศ.1992

5.F-18
เป็นเครื่องบินประเภท Multi-Role รุ่นแรกของกองทัพเรือสหรัฐฯ อย่างแท้จริง มีเขี้ยวเล็บในการโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดิน และป้องกันตัว (รวมถึงคุ้มกันเครื่องบินอื่น) จากเครื่องบินขับไล่ของศัตรูในเวลาเดียวกัน

อ้างอิงอันดับจาก http://www.youngester.com

*********************

เรื่อง: ทีมข่าว CLICK


กำลังโหลดความคิดเห็น