xs
xsm
sm
md
lg

3 rd ADMM ตั้ง 3 เสาหลักเพิ่มเสถียรภาพกลาโหมอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 3 (The 3rd Asean Defence Ministers’s Meeting : 3 rd ADMM) จบลงอย่างสวยงาม 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนจับมือวาง 3 แนวทางหลักเพิ่มเสถียรภาพแห่งท้องทวีปต่อสายตานานาชาติ

วันนี้ (26 ก.พ.) หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งที่ 3 (The 3rd Asean Defence Ministers’s Meeting:3rd ADMM) ที่โรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา จ.ชลบุรี โดยมีตัวแทนจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทยในการร่วมประชุมดังกล่าว

จากนั้นจึงมีพิธีลงนามในปฏิญญาร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อหลัก “การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลาโหมอาเซียน เพื่อเผชิญความท้าทายจากภัยคุกคามต่อความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Joint Declaration on Strengthening ASEAN Defence Establishments to Meet The Challenges of Non-Traditional Security Threats)” ซึ่งปฏิญญาร่วมฉบับนี้เป็นการยืนยันพันธสัญญาในความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างสันติภาพและเถียรภาพของภูมิภาค

รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการอันจะนำไปสู่การจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community : APSC) ภายในปี ค.ศ.2015 เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ในการเผชิญต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่างๆ โดยมีการลงชื่อรับรองเอกสารสำคัญ 3 ฉบับ แต่ละฉบับมีรายละเอียดว่า

1.เอกสารแนวความคิดการใช้ทรัพยากรและศักยภาพทางทหารอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกประสิทธิภาพในการปฏิบัติการทางทหารของประเทศสมาชิกอาเซียน ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ

2.เอกสารหลักเกณฑ์สำหรับสมาชิกภาพการประชุมระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน กับรัฐมนตรีกลาโหมของประเทศคู่เจรจา

3.เอกสารแนวความคิดความร่วมมือระหว่างกลาโหมอาเซียนกับองค์กรภาคประชาสังคมในด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ ได้กำหนดกรอบและแนวทางการดำเนินการสำหรับให้องค์กรภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมกับกลาโหมอาเซียน ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความมั่นคงรูปแบบใหม่

ทั้งนี้ เอกสารแต่ละฉบับได้แสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนที่จะส่งเสริมความร่วมมือในการจัดการกับภัยพิบัติ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ พัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือกับมิตรประเทศและประเทศคู่เจรจาของอาเซียน โยผ่านกลไก ADMM-Plus บนพื้นฐานความพร้อมของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด อีกทั้งหาแนวทางด้านการเผชิญกับความมั่นคงรูปแบบใหม่

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมยังได้ชื่นชมความพยายามในการผลักดันร่างแผนการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community Blueprint) เพื่อบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์เดียวกัน และแสดงให้เห็นว่า ภูมิภาคอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความสงบสุข แข็งแกร่ง และสามัคคีที่จะตอบสนองต่อความมั่นคงในทุกมิติ และตอบสนองต่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่มีการพึ่งพาอาศัยกันเป็นบูรณาการเพิ่มขึ้น โดยร่างแผนการจัดตั้งประชาคมฉบับนี้จะมีการรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14





กำลังโหลดความคิดเห็น