ตาก - จัดงานสืบสานวัฒนธรรมชนเผ่าลีซูแห่งประเทศไทย รวมชนเผ่ากว่า 2,500 คนร่วมงาน
รายงานข่าวจากจังหวัดตากแจ้งว่า นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมสืบสานวัฒนธรรมลีซูแห่งประเทศไทย ที่บริเวณบ้านร่มเกล้าสหมิตร ต.คีรีราษฏร์ อ.พบพระ จ.ตาก เมื่อเร็ว ๆนี้ ซึ่งเป็นการรวมพลังผู้แทนชนเผ่าจากชุมชนชาวลีซู (ลีซอในปัจจุบัน) จาก 7 จังหวัดภาคเหนือ กว่า2,500 คน เข้าร่วมงานที่จะมีจนถึงวันนี้ (23 ก.พ.) เป็นวันสุดท้าย
ทั้งนี้ กลุ่มลีซอจังหวัดตากได้เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้เนื่องจากมีความพร้อมที่สุด ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก ร่วมกับคณะกรรมการและกองเลขาเครือข่ายลีซูแห่งประเทศไทย และแกนนำชุมชนวัฒนธรรมลีซูบ้านร่มเกล้าสหมิตร อ.พบพระ จ.ตาก ร่วมกันจัด โดยมีเครือข่ายลีซูจาก จ.เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, สุโขทัย, กำแพงเพชร, เชียงใหม่, เพชรบูรณ์ และตาก โดยกิจกรรมหลักๆคือ พิธีการทางศาสนา, พิธีการต้อนรับแขก, พิธีเคารพผู้อาวุโส,การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงทางวัฒนธรรม, การเต้นรำ ฯลฯ การจัดงานดังกล่าวได้ร่วมกันจัดระหว่างฝ่ายปกครองจังหวัดตาก-องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตาก และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คีรีราษฎร์
รายงานข่าวแจ้งว่า การจัดงานครั้งนี้นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้แต่งกายในชุดชนเผ่าลีซู(ลีซอ) มาเปิดงานเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดงานของชนเผ่าชาวลีซู(ลีซอ) โดยคณะกรรมการและแกนนำเครือข่ายชาวไทยภูเขาชนเผ่าลีซู (ลีซอ) กว่า 2,500 คน ได้นัดพบรวมพลชนเผ่า ที่บ้านร่มเหล้าสหมิตร หมู่ 5 หลัก กม.48 ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ จ.ตาก เพื่อร่วมกันจัดงานสืบสานประเพณี-วัฒนธรรมลีซูแห่งประเทศไทย ประจำปี 2552
นายเก๊าใหม่ แซ่ย้าง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตาก เขต 1.อำเภอพบพระ กล่าวว่า อบจ.ตาก ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 300,000 บาท และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คีรีราษฎร์ อ.พบพระ ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 80,000 บาท รวม 380,000 บาท เพื่อร่วมกันจัดงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีปีใหม่ชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอ(ลีซู)แห่งประเทศไทย ที่บ้านลีซอ (บ้าน 48) หมู่ 5 ตำบลคีรีราษฎร์ อ.พบพระ
ทั้งนี้ เพื่อให้ชนเผ่าลีซอ หรือลีซู ได้สืบสานขนบธรรมเนียม-วัฒนธรรม-ประเพณี อันดีงามของชนเผ่า โดยในปี 2552 นี้ชนเผ่าลีซอ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจะมีการจัดงานพร้อมกันทั่วประเทศทุกพื้นที่ที่มีชาวไทยภูเขาชนเผ่าลีซอ อยู่ในแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะในเขต 7 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งจะมีแกนนำชนเผ่ากว่า 2,500 คน มาร่วมพบปะกัน และเพื่อให้คนทั่วไปรู้จักเอกลักษณ์ วิถีชีวิต การดำรงชีวิต และความเป็นชนเผ่าที่มีความรักสามัคคีและสืบทอดความเป็นชนเผ่าที่อยู่อย่างสันติสุข