นายวิสูตร บัวชุม หัวหน้าศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน (ททท.) เปิดเผยว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 นี้ ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขอแนะนำให้ผู้ที่มีใจรักด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ถีชีวิตของชนเผ่า มาสัมผัสงาน “มหกรรมสืบสานวัฒนธรรมลีซูแห่งประเทศไทย ประจำปี 2551” ณ บริเวณบ้านใหม่สหสัมพันธ์ หมู่ที่ 7 ตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปี 2551 ระหว่างวันที่ 22 – 24 กุมภาพันธ์ 2551 ตั้งแต่เวลา 09.30 เป็นต้นไป
โดยจะมีกิจกรรมและพิธีกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ พิธีกรรมทางศาสนา การเล่าขานประวัติศาสตร์ชนเผ่าลีซู การละเล่นพื้นบ้าน เช่น การตีลูกข่าง การโยนลูกช่วง การเล่นสะบ้า การยิงหน้าไม้ การเย็บปักถักร้อยของชาวลีซู การเต้นรำและการร้องเพลงของชนเผ่าลีซู ในงานดังกล่าวยังจะมีการรวมพี่น้องชนเผ่าลีซู จากที่ต่างๆ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ตาก เพชรบูรณ์ และ แม่ฮ่องสอน ด้วยการแต่งกายที่สวยงามของชนเผ่าลีซู มากถึง 5,000 คน
อนึ่งเผ่าลีซู ก็คือเผ่าเดียวกับลีซอ เนื่องจากชาวลีซอ เรียกตนเองว่า “ลีซู” ชาวจีนเรียก “ลีโซ” หรือ “ลีซือ” ชาวไทย ใหญ่เรียก “แข่ลีซอ” ส่วนชาวไทยเรียก “ลีซอ” ชาวลีซูพูด ภาษา ทิเบต-พม่า แต่ไม่มีภาษาเขียน บางหมู่บ้านใช้อักษรโรมันที่พวกมิชชั่นนารีสอนไว้ พวกลีซู อพยพ เร่ร่อน ผู้ชายจึงพูดได้หลาย ภาษา เช่น จีน ไทยใหญ่ ลาว ไทย และอีก้อ ลีซูมีคำนำหน้าด้วยคำว่า “อา” ใช้ได้ทั้งผู้หญิงและ ผู้ชายแต่ถ้าเป็นหญิง ลงท้ายด้วย “ม่า”
การตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวลีซูจะตั้งหมู่บ้านใกล้น้ำตก เพื่อจะได้ใช้ไม้ไผ่หรือไม้ซางต่อเป็นท่อน้ำ เข้ามาใช้ในหมู่บ้าน ลำไม ้ซางนี้จะติดต่อกันไปทั่วทุกหลังคาเรือน ลีซูส่วนมากปลูกบ้านติดกับพื้นดิน เช่น ในเขตเชียงรายเสาบ้านทำด้วย ไม้ไผ่ภาย ในบ้านนิยมแบ่งห้องโดยใช้ไม้ไผ่สานกั้นเป็นฝาห้องมีห้องรับแขกที่ใช้นั่งและนอน ห้องนอนอยู่อีกด้านหนึ่ง ระหว่างห้องนอน และห้องรับแขก มีแท่นบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษหรือตาบิ บ้านของชาวลีซูมีประตูเพียง ประตูเดียว เรียกว่า ประตูผีออก ชาวลีซูมีหัวหน้าหมู่บ้านดำรงตำแหน่งโดยสืบสายโลหิต แต่ปัจจุบันธรรมเนียมได้เปลี่ยนไป โดยให้มีผู้อาวุโสในหมู่บ้าน เป็น ผู้เลือกหัวหน้า
ถ้านักท่องเที่ยวอยากรู้จักและสัมผัสให้เข้าถึงแก่นแท้ขอวงชาวลีซู จึงไปควรพลาดงาน“มหกรรมสืบสานวัฒนธรรมลีซูแห่งประเทศไทย ประจำปี 2551”ที่กำลังจะมีขึ้นนี้