xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิสืบฯจับมือ พอช.ดึง 135 เครือข่ายร่วมต้านบุกรุกผืนป่าตะวันตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครสวรรค์ – ดึงพลังชุมชน 135 เครือข่ายป่าชุมชนแนวเขตกันชนผืนป่าตะวันตกรับมือแก้ปัญหาการบุกรุกป่า พร้อมเสริมศักยภาพชุมชนให้เป็น “รั้วมนุษย์” เพื่อเข้ามามีบทบาทร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ หวังช่วยลดการบุกรุกป่าได้และมีป่าเหลือถึงลูกหลาน

นายชลทิศ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิด “เวทีเครือข่ายป่าชุมชนเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ บริเวณแนวเขตป่ากันชนผืนป่าตะวันตก” เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ณ ที่ว่าการอำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เครือข่ายป่าชุมชนรอบบริเวณแนวกันชนผืนป่าตะวันตก 135 หมู่บ้าน 11 อำเภอ 5 จังหวัด ตั้งแต่จังหวัดกำแพงเพชร อุทัยธานี นครสวรรค์ กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,200 คน

นางรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ปัญหาการบุกรุกป่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจัดการเพียงหน่วยงานรัฐจนสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศทรัพยากรธรรมชาติ หากไม่อาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่พร้อมจะแสดงความร่วมมือ ร่วมใจ ที่จะรักษาผืนป่า

ดังนั้น เพื่อเป็นการหนุนเสริมความเข้มแข็งและสนับสนุนให้ชุมชนมีการจัดตั้งป่าชุมชน มูลนิธิสืบฯจึงได้ร่วมกับกรมป่าไม้ในการจัดตั้งป่าชุมชน มีการดูแลบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่เป็นฐานชีวิตของชุมชนเป็นแนวป้องกันภัยของสัตว์ป่าและระบบนิเวศในเขตป่า พร้อมดึงชุมชนรอบแนวเขตกันชนเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการพื้นที่ป่าชุมชน กำหนดทิศทางการทำงานร่วมกัน

นางรตยา กล่าวว่า ที่ผ่านการ การแก้ไขปัญหาบุกรุกป่าโดยภาครัฐส่วนเดียวไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง จากขีดจำกัดของสภาพพื้นที่อันเต็มไปด้วยภูเขา และป่าทึบ จึงเกิดการลักลอบการตัดไม้ได้จากทุกพื้นที่ หากสามารถจัดการแก้ไขปัญหาการลักลอบการตัดไม้โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากชาวบ้านจะช่วยแก้ปัญหาได้มาก ซึ่งมูลนิธิสืบฯยินดีทำงานร่วมกับชาวบ้านให้เป็นไปตามแผนจัดการแก้ปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการจัดตั้งป่าชุมชนเพื่อเป็นแนวกันชนให้ผืนป่าตะวันตกโดยการจัดการป่าด้วยตนเอง

นายตะวันฉาย หงษ์วิไล เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร รับผิดชอบพื้นที่ป่ารอยต่อจังหวัดนครสวรรค์ -สุพรรณบุรี กล่าวว่า ในช่วงปี 2550-2551 มูลนิธิได้เข้าไปส่งเสริมสนับสนุนให้ชาวบ้านรอบแนวเขตกันชน รวมตัวกันเป็นเครือข่ายป่าชุมชน เพื่อร่วมกันดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในพื้นที่รอบป่าของตนเอง โดยชาวบ้านได้ตั้งกลุ่มเพื่อออกลาดตระเวน วางแนวเขต การทำแนวกันไฟ การปลูกป่า ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาได้ดีมาก ทำให้กลุ่มที่ลักลอบตัดไม้ได้ยากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม การทำงานเครือข่ายชุมชนที่ปกป้องผืนป่าที่ผ่านมาได้ถูกข่มขู่คุกคามจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลลักลอบตัดไม้ โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา นายพิทักษ์ จันทร์กูล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านคลองห้วยหวาย และเป็นคณะกรรมการป่าชุมชนได้ถูกวางระเบิด ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขัดขวางขบวนการทำไม้ในพื้นที่ และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นหากไม่มีการเยียวยาและติดตามเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ จะส่งผลให้คนทำงานเสียขวัญกำลังใจ การรวมพลังจัดงาน “มหกรรมโครงการเสริมสักยภาพชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ” ที่เกิดขึ้นถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้เครือข่ายชุมชนยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องผืนป่าต่อไป

นายเดช เชียวเขตวิทย์ ประธานเครือข่ายป่าชุมชนแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ชาวบ้านมีการอนุรักษ์ป่ามานานแล้ว และที่ผ่านมา ได้มีการออกกฎระเบียบร่วมกัน แต่อยากให้กรมป่าไม้ได้จัดตั้งเป็นป่าชุมชนที่ถูกกฏหมายโดยใช้ระเบียบของกรมป่าไม้ และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการบุกรุกเข้าไปในป่าผืนใหญ่

“ขณะนี้มีเครือข่ายป่าชุมชนรอบแนวเขตกันชนผืนป่าตะวันตกแล้ว 135 หมู่บ้าน 11 อำเภอ 5 จังหวัด มีความพร้อมที่จะสร้างการจัดการป่าที่มีประสิทธิภาพ หากเกิดการประสานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ระหว่างชาวบ้าน ท้องถิ่น รัฐ เพื่อจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ลดความขัดแย้ง เมื่อชาวบ้านตัดสินใจเลือกวิธีการที่จะควบคุมการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าด้วยตนเอง จึงจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน”

ด้าน นายโป่รง คงห้วยรอบ กรรมการป่าชุมชนอำเภอแม่เปิน กล่าวว่า แนวทางแก้ปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ลักลอบการล่าสัตว์ในเขตป่า ลักลอบเผาป่าให้ประสบความสำเร็จ ต้องเชื่อมโยงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐกับชุมชน ด้วยวิถีชีวิตของชุมชนรอบแนวเขตกันชนอันเป็นชาวบ้านส่วนใหญ่ในผืนป่าตะวันตก จำเป็นต้องอาศัยป่าเพื่อการดำรงชีวิต ทั้งเก็บผัก หาหน่อไม้ แมลง ไม้ฟืน ฯลฯ หากรัฐใช้วิธี “ห้าม” หรือ “จับกุม” ก็ยังคงเกิดการลักลอบ จึงควรให้ “ความรู้” แก่ชาวบ้าน เพื่อส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากป่าน้อยที่สุดแล้วหันมาสนับสนุนปลูกป่าหัวไร่ปลายนา “ยกป่าใหญ่มาไว้ที่บ้าน” ชาวบ้านก็จะใช้พื้นที่ได้ รัฐก็จะควบคุมปัญหาได้

นายโป่รง กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสถานการณ์การเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่ามีมากขึ้น เมื่อสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้มีนโยบายให้ชุมชนทั่วประเทศมีผลิตภัณฑ์ “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือ OTOP ซึ่งชุมชนที่ติดกับป่าโดยเฉพาะชุมชนรอบบริเวณผืนป่าตะวันตก พื้นที่อำเภอแม่เปิน ได้ใช้ตอไม้เป็นผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ในการทำเฟอร์นิเจอร์ จากตอไม้ โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหิจชุมชน จากพัฒนาชุมชนและกรมป่าไม้

แต่เดิมกลุ่มได้ใช้ตอไม้ เช่น ไม้ล้มหมอนนอนไพร ที่มาจากหัวไร่ปลายนา และก็ได้รับการขึ้นทะเบียนกับพัฒนากรจังหวัด แต่มีข้อห้ามเข้าไปตัดไม้จากเขตป่าอนุรักษ์และป่าสงวน แต่เมื่อผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยมมากขึ้นและมีราคาที่สูง กลุ่มตอไม้จึงเกิดการขยายตัวที่ไม่อยู่ในเขตพื้นที่เท่านั้น คนจังหวัดอื่นที่เป็นญาติก็เข้ามาผลิตสินค้า จนไม่พอกับความต้องการของตลาดจึงลักลอบเข้าไปขุดตอไม้ในเขตป่าอนุรักษ์ ขยายไปสู่การทำไม้แผ่นแปรรูป

การขึ้นทะเบียนเป็นเป็นวิสาหกิจชุมชน เป็นการเปิดช่องให้นายทุนเข้ามาหากิน ทั้งการขึ้นทะเบียนเลื่อยยนต์ และในเขตจังหวัดนครสวรรค์มีการขึ้นทะเบียนเลื่อยยนต์กว่า 300 ตัว และพอมีเครื่องยนต์และมีกลุ่มมากขึ้น การลักลอบตัดไม้ก็มากขึ้นเช่นกัน และเมื่อไม่นานได้มีการลักลอบตัดต้นไม้ประดู่ วัดรอบประมาณ 4 คนโอบ อายุกว่า 200 ปี ในเขตป่าชุมชนบ้านหนองห้วยหวาย เมื่อเทียบราคาหลายแสนบาท และห่างกันอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ก็มีการลักลอบบากรอบต้นไม้รอเวลาให้ลมพัดเพื่อให้โค่นลงมาเอง ในเขตป่าชุมชนบ้านแม่กะสี โดยวัดรอบประมาณ 3 คนโอบ ทั้งหมดนี้เป็นแผนการทำลายป่าอย่างเห็นได้ชัด

“ปัญหาทั้งหมดจะยุติได้ต้องยุบกลุ่มผลิตภัณพ์ตอไม้ และหันไปส่งเสริมอาชีพอื่นแทน ส่งคืนเลื่อยยนต์ทั้งหมดให้กรมป่าไม้ แล้วนำผืนป่าในเขตแนวกันชนขึ้นเป็นโฉนดป่าชุมชน โดยให้มีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันหน้าร่วมมือกันอย่างจริงจัง พร้อมทั้งทำแผนการจัดการป่าร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม” นายโป่รง กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น