xs
xsm
sm
md
lg

มช.ระดมสมองนักวิจัยสู้วิกฤตหมอกควัน/ชี้คุณภาพอากาศส่งผลกระทบสุขภาพชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – ม.เชียงใหม่ ระดมสมองนักวิจัยแนะแนวทางแก้ปัญหาหมอกควัน หลังสถานการณ์คุณภาพอากาศเมืองเชียงใหม่ส่อเค้าย่ำแย่ เผยผลการศึกษา พบแม้ปริมาณสารปนเปื้อนในอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพชัดเจน ร้ายแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งปอดที่สถิตย้อนหลัง 5 ปีพุ่งสูงลิ่ว

วันนี้ (18 ก.พ.) ที่สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานแถลงข่าวของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง “หมอกควันเชียงใหม่ ภัยใกล้ตัว” เพื่อเผยแพร่ความรู้ ข่าวสาร และปรึกษาหารือด้านปัญหา แนวทางการแก้ไข ในสถานการณ์หมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักวิจัยที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจง และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นไปสู่การสร้างกระแสให้ร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมและปัญหาหมอกควันอย่างเป็นระบบ

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องสำคัญของโลกเวลานี้ และเกิดปัญหาวิกฤตทางธรรมชาติที่รุนแรงต่อเนื่อง เช่น ล่าสุด เหตุไฟไหม้ป่าที่ออสเตรเลีย มีคนเสียชีวิตกว่า 200 ราย วิกฤตสภาพอากาศในอเมริกา อากาศหนาวเย็นนานในไทย และอาจจะแล้งมากขึ้น ล้วนส่งสัญญาณให้เห็น และขณะนี้ภาวะหมอกควันในภาคเหนือหลายจังหวัดก็มีค่าเกินมาตรฐานมาแล้ว

เช่น ลำพูน ลำปาง และ แพร่ ขณะที่ เชียงใหม่ ก็เริ่มขยับ ซึ่งค่าดัชนีอากาศ AQI ที่วัดจากคาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โอโซน และค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) ที่เชียงใหม่ ก็เกินมาตรฐานแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกส่วนต้องตระหนักและร่วมมือกันดูแลและป้องกันไม่ให้มีการซ้ำเติมสถานการณ์ที่บางอย่างอาจจะแย่อยู่แล้วจากปัจจัยภายนอก ที่เข้ามาอยู่ในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน เช่น การเผาที่โล่งหากไปเพิ่มอีกก็แย่ รวมทั้งเรื่องมลภาวะทางการจราจรด้วย แต่ก็มีแนวทางที่เป็นทางออกยามมีปัญหารวมทั้งมีผลวิจัยต่างๆ ที่จะชี้ให้เห็นถึงความใส่ใจกับเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น

ส่วน รศ.ดร.เจียมใจ เครือสุวรรณ หน่วยวิจัยฟิสิกส์บรรยากาศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า ผลการตรวจวัดความเข้มข้นของผงฝุ่น PM10 วันที่ 12 มกราคม-16 กุมภาพันธ์ 2552 ผงฝุ่นขนาดเล็ก PM10 มีปริมาณไม่เกิน 100 µg/m3 ที่สถานีตรวจวัดบริเวณศาลากลาง PM10มีปริมาณเกิน 80 µg/m3 ที่สถานีตรวจวัดพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ และค่า PM10 เกิน 100 µg/m3 หลายวันที่สถานีตรวจวัดโรงเรียนยุพราช ดังแสดงในกราฟค่าความเข้มข้น PM10 ที่ตรวจวัดโดยกรมควบคุมมลพิษ สำหรับประเทศไทยที่กำหนดค่ามาตรฐาน 120 µg/m3

โดยช่วงวันที่ 12 มกราคม-16 กุมภาพันธ์ 2552 บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ มีสภาพอุณหภูมิผกผันเหนือพื้นดินในตอนเช้า และมีชั้นของอุณหภูมิผกผันในช่วงระยะสูง 2.1-3.2 กิโลเมตร ลมผิวพื้นในระยะสูงภายใน 2 กิโลเมตร เป็นลมสงบ อากาศแห้ง จากภาพ skew-T วันที่ 12 มกราคม-16 กุมภาพันธ์ 2552 จัดว่า เป็นสภาพอากาศที่ไม่สนับสนุนการฟุ้งกระจายของฝุ่น ทั้งตามแนวดิ่งและแนวราบ โอกาสสะสมฝุ่นละอองในแอ่งเชียงใหม่มีมาก โดยแหล่งกำเนิด PM10 ในจังหวัดเชียงใหม่หลักๆ คือ รถยนต์ดีเซล ไม่เกิน 10% การเผาป่า 50-70% (ในเชียงใหม่) ที่เหลือเป็นการพัดพาจากแหล่งกำเนิดภายนอกเชียงใหม่, อุตสาหกรรมท้องถิ่น, ฝุ่นจากถนน การก่อสร้าง ฯลฯ

ขณะที่ รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวิจัยได้เผยผลการวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของมลพิษทางอากาศที่มีต่อสมรรถภาพปอดในเด็กที่เป็นโรคหอบหืด” ว่า วิจัยนี้เป็นการติดตามเด็กที่เป็นโรคหอบหืด (อายุ 4-11 ปี) ที่มารักษาที่หน่วยโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มช.จำนวน 31 คน ที่อาศัยอยู่ในอำเภอเมืองเชียงใหม่และปริมณฑล เป็นเวลา 306 วัน ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม 2548-30 มิถุนายน 2549 ร่วมกับการบันทึกคุณภาพอากาศ พบความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างซัลเฟอร์ไดออกไซด์กับสมรรถภาพปอดของเด็กยิ่งสารมีมาก สมรรถภาพปอดของเด็กก็ลดลง 2.12 ลิตร/นาที และยังพบอีกว่าโอโซน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์เสริมฤทธิ์กัน ทำให้สมรรถภาพปอดเฉลี่ยรายวันของเด็กลดลง โดยทุกๆ 1 ppb (หนึ่งส่วนในพันล้านส่วนของอากาศ) ของโอโซน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นทำให้สมรรถภาพปอดของเด็กลดลง 0.16 และ 1.60 ลิตร/นาที ตามลำดับ

รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ บอกว่า จากการค้นพบนี้ ยืนยันว่า คุณภาพอากาศที่เลวลงส่งผลต่อสุขภาพในเด็กที่เป็นหอบหืดได้จริง ดังนั้น มาตรการการรณรงค์เรื่องคุณภาพอากาศจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างเข้มงวด เพราะมิฉะนั้นแล้วกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ดังเช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคหอบหืดจะได้รับผลกระทบทางลบต่อสุขภาพ ซึ่งย่อมมีผลต่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจทั้งต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว และของประเทศชาติโดยรวม นอกจากนี้ จำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนค่ามาตรฐานของสารมลพิษแต่ละชนิดใหม่ เนื่องจากพบว่าแม้สารมลพิษจะยังไม่เกินค่ามาตรฐานแต่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว

ด้าน ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการแป๋งขี้เหยื้อหื้อเป๋นทุนเพื่อลดการเผาขยะ และโครงการภาคคมนาคมขนส่งกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย บอกว่า สถานการณ์ปัญหาตอนนี้ หรืออนาคตถ้าไม่ให้วิกฤตต้องป้องกันไม่ให้เกิด ซึ่งมีทางออกเรื่องของการเผาในที่โล่งเรื่องขยะเศษใบไม้วัสดุด้านเกษตร ซึ่งโครงการวิจัยทำอยู่คือโครงการแป๋งขี้เหยื้อหื้อเป๋นทุน เพื่อลดการเผาขยะ โดยเป็นปีที่ 2 ซึ่งมีเป้าหมายให้การทิ้งขยะและการเผาลดลง 30 % ประชาชนมีรายได้เพิ่มจากการขายผลิตภัณฑ์ โรคทางเดินหายใจ + โรคเครียดลดลง ความขัดแย้งจากการเผาสิ่งต่างๆ ลดลง และ ม.ช. ช่วยแก้ปัญหา เป็นที่พึ่งของสังคม

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลวิจัยด้านต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางการศึกษาและเป็นข้อมูลประกอบให้เกิดการเฝ้าระวังอย่างรอบด้าน ซึ่งจะมีการประสานกับทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงต่อไป อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สำหรับข้อมูลคุณภาพอากาศของเชียงใหม่นั้นเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่จุดตรวจวัดที่หน้าศาลากลางจังหวัด 90.6 ไมครอน ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ 92.8 ไมครอน ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย 112.8 ไมครอน โดยมีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ AQI อยู่ที่ 109, 83 และ 111 ตามลำดับโดยในเขตเมืองเริ่มเกินมาตรฐานแล้ว ขณะที่ลำพูน ลำปางและแพร่ PM10 ก็เกินมาตรฐานมาเป็นวันที่ 4 แล้ว ที่ 14901, 201.2 และ 125.4 ไมครอนตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น