จันทบุรี - เครือข่ายนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี ยื่นหนังสือขอให้ “รมว.วัฒนธรรม” ตรวจสอบการรื้อถอนโบราณสถาน จวนผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีที่จะมีอายุครบหนึ่งร้อยปี ในปีหน้า ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักวิชาการของกรมศิลปากร
นายมนตรี พงษ์เจริญ ผู้แทนชมรมเครือข่ายนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี พร้อมสมาชิก ยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบกรณีการรื้อถอน เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน จวนพระยาตรังภูมาภิบาล หรือจวนผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ระหว่างการร่วมงานเผยแผ่ศาสนา และพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสารสนเทศจันทบุรี
โดยเนื้อหาในหนังสือระบุถึงความไม่ถูกต้องในการดำเนินการรื้อถอนอาคาร ที่ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ เนื่องจากเป็นอาคารที่มีความเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.2453 และแม้ทางกรมศิลปากรได้ลงมาตรวจสอบพร้อมทำการทักท้วงและหาทางออกสำหรับการแก้ปัญหาไว้เบื้องต้นแล้ว แต่จังหวัดจันทบุรีก็ยังดำเนินการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ต่อไป โดยทางเครือข่ายนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรีได้แสดงความเห็นในหนังสือที่ยื่นว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และพร้อมที่จะดำเนินกิจกรรมต่อต้านการดำเนินการของจังหวัดจันทบุรีอย่างถึงที่สุด โดยขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมดำเนินการตรวจสอบให้เป็นไปอย่างถูกต้องด้วย
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวภายหลังการรับหนังสือร้องเรียนว่า จะทำการตรวจสอบกับทางกรมศิลปากรก่อนว่า อาคารจวนผู้ว่าที่ถูกรื้อถอน ได้ถูกขึ้นทะเบียนไว้กับกรมศิลปากรหรือไม่ ถ้าขึ้นทะเบียนไว้แล้ว แต่ทำการรื้อถอนโดยไม่ได้อยู่ในการดูแลของกรมศิลปากรก็อาจเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ประชาชนมีความหวงแหนในโบราณสถานแห่งนี้ก็จะให้ทางกรมศิลปากรลงมาดูแลการบูรณให้ถูกต้อง
ด้าน นายมานพ วีระอาชากุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ชี้แจงว่า จวนผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ซึ่งการรื้อถอนบูรณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นโครงการที่เริ่มขึ้นในสมัยผู้ว่าคนก่อน เนื่องจากเห็นว่ามีสภาพทรุดโทรม หากปล่อยไว้นานอาจเสียหายมากกว่านี้ จึงได้ขอการสนับสนุนจากกรมศิลปากรแล้ว แต่ทางกรมศิลปากรไม่มีงบประมาณเพียงพอ ทางจังหวัดจึงใช้งบของกระทรวงมหาดไทยในการดำเนินการบูรณ โดยยืนยันว่าจะทำการบูรณให้มีรูปแบบคงเดิม พร้อมประสานกับกรมศิลปากรให้ช่วยดูแลการบูรณให้เป็นไปตามหลักวิชาการด้วย
สำหรับจวนผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ถือเป็นโบราณสถานสำคัญ เนื่องจากเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2453 โดยนายถนอม บุญยะเกตุ หรือพระยาตรังภูมาภิบาล สมุหเทศาภิบาลประจำมณฑลจันทบุรี ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง เพื่อใช้เป็นที่ทำการสมุหเทศาภิบาลประจำมณฑลจันทบุรี และหลังจากพระยาตรังฯได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยารณชัยชาญยุทธ ปฏิบัติหน้าที่ ณ กรุงเทพมหานคร อาคารเก่าแก่หลังนี้จังใช้เป็นที่ปฏิบัติงานและเป็นเรือนพักผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี จนปัจจุบันจะมีอายุครบ 100 ปี ใน พ.ศ.2553 นี้