xs
xsm
sm
md
lg

“ลูกเจ๊เกียว” รื้อโครงการโรงกำจัดขยะเมืองย่าโม-ชง “เบตเตอร์ เวิลด์กรีน” ฮุบ 421 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรวุฒิ  เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- “ลูกชายเจ๊เกียว” นายกเล็กเมืองย่าโมรื้อ “โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะครบวงจร” ฉาว หลังทีมเก่าเด็ก “สุวัจน์” ชิงตัดหน้าวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างไปแล้ว เผย ชง “เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน” คว้าประมูลฮุบ 412 ล้าน กำหนดสร้างเสร็จปี 2554 ระบุใช้ พื้นที่ ทภ.2 73 ไร่ แบ่งเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยและพลังงาน 10 ไร่ ส่วนที่เหลือ 63 ไร่ เป็นบ่อฝังกลบรองรับขยะจากเทศบาลนคร และ ท้องถิ่นข้างเคียงรวม 34 แห่ง 230 ตัน/วัน

นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยครบวงจรเทศบาลนครนครราชสีมา ว่า เทศบาลนครนครราชสีมา ประสบปัญหาการจัดหาพื้นที่กำจัดขยะมูลฝอยมาเป็นเวลานาน ที่ผ่านมา กองทัพภาคที่ 2 ได้ให้ความช่วยเหลือจัดหาพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน

ขณะเดียวกัน ปริมาณขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลนคร นับวันจะมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งล่าสุด มีปริมาณขยะในเทศบาลที่จะต้องกำจัดวันละ 180 ตัน และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของเมือง

เมื่อปี 2548 เทศบาลนคร ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบกำจัดขยะแบบผสมผสาน โดยส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการคัดแยกขยะอินทรีย์จากต้นทางและนำเทคโนโลยี การจัดการมาช่วยให้เกิดประสิทธิภาพ ได้ผลตอบแทนทั้งในรูปแบบการแปรรูปขยะมูลฝอย เป็นปุ๋ยอินทรีย์ และก๊าซชีวภาพ สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนพลังงานจากน้ำมันสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าได้ และการฝังกลบอย่างเป็นระบบและถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล

นายสุรวุฒิ กล่าวอีกว่า เทศบาลนครได้ถูกคัดเลือกให้เป็นศูนย์กำจัดขยะรวมของ จ.นครราชสีมา ศูนย์ที่ 3 โดยรองรับการกำจัดขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในเขต อ.เมือง และ อ.ขามทะเลสอ จำนวน 34 แห่ง ดังนั้น เพื่อให้การกำจัดขยะแบบครบวงจร บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน ทางกองทัพบกโดยกองทัพภาคที่ 2 จึงได้อนุมัติให้เทศบาลนคร ใช้พื้นที่ในการกำจัดขยะต่อไปอีก 20 ปีในเนื้อที่ 73 ไร่

เทศบาลได้ดำเนิน “โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย (โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงาน) เทศบาลนครนครราชสีมา” ขึ้น เพื่อให้มีการจัดการขยะมูลฝอยอย่างเป็นระบบ ลดปัญหาขยะมูลฝอยตกค้าง เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี ทัศนียภาพสวยงาม, ได้ผลผลิตเป็นปุ๋ยอินทร์จำนวน 21 ตันต่อวัน กระแสไฟฟ้า 6.4 ล้านหน่วย/ปี และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 16,000 ตัน/ปี ซึ่งเป็นการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทน และแนวทางการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ และเป็นการอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ

นอกจากนี้ ยังเป็นตัวอย่างในการจัดการมูลฝอยแบบบูรณาการ กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนกับการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย การคัดแยกขยะที่ต้นกำเนิด, การจัดเก็บแยกประเภท, การคัดแยกวัสดุเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ การแปรรูปขยะเพื่อให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์และพลังงาน และการกำจัดโดยการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล และ เกิดความเชื่อมั่นในการจัดการมูลฝอย ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน

นายสุรวุฒิ กล่าวต่อว่า การก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยดังกล่าว ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 412 ล้านบาท ซึ่งทางเทศบาลนครได้ขอสนับสนุนงบประมาณจาก กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ผูกพัน 4 ปี (2551-2554) ขณะนี้กรมส่งเสริมฯ อนุมัติในหลักการแล้ว และอีกส่วนหนึ่งทางเทศบาลนครนคร ได้จัดเงินสมทบเพิ่มเติม

ล่าสุด ได้จัดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างและได้บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีคุณสมบัติตามกำหนด เข้ามาดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว โดยเซ็นสัญญาจ้างเหมา เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา และจะเริ่มก่อสร้างในช่วปลายเดือนม.ค.นี้ ใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 2 ปี เริ่มจาก ม.ค.2552-2554

การก่อสร้างแบ่งออกเป็น พื้นที่ก่อสร้างโรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงาน ประมาณ 10 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 63 ไร่ เป็นพื้นที่ก่อสร้างบ่อฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล สามารถรองรับขยะได้วันละ 230 ตัน ซึ่งโครงการมีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ การฟื้นฟูบ่อฝังกลบขยะมูลฝอยเก่าที่ปิดทับแล้วกลับมาใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ก่อสร้างระบบใหม่, ระบบการคัดแยกต้นทางและการเก็บขนแยกจากขยะมูลฝอยชุมชน, ระบบการคัดแยกส่วนหน้า, ระบบหมักแบบไร้อากาศ ขนาด 80 ตัน/วัน, ระบบการใช้ประโยชน์จากปุ๋ยอินทรีย์และการผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ, ระบบผลิตเชื้อเพลิงจากกระดาษและเศษพลาสติกที่ไม่มีค่าในเชิงพาณิชย์ 8 ตัน/วัน และ ระบบกำจัดที่เหลือจากการคัดแยกสุดท้าย แบบฝังกลบ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย (โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงาน) เทศบาลนครนครราชสีมา ดังกล่าว คณะผู้บริหารเทศบาลนคนครราชสีมา ชุด นายเชิดชัย โชครัตนชัย เป็นนายกเทศมนตรี ที่มี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้การสนับสนุน ได้ชิงทำพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างโครงการฯ ไปแล้วเมื่อวันที่ 11 ก.พ.2551 ที่ผ่านมา โดย มี พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขณะนั้น เป็นประธานพิธี

หลังจาก นายสุรวุฒิ เชิดชัย ชนะการเลือกตั้ง เข้ามารับตำแหน่งนายกเทศมนตรี ได้สั่งให้ทบทวนโครงการใหม่และแก้ไข TOR บางส่วน เช่น แก้ไขประสบการณ์ผู้รับจ้างเหมาก่อสร้างให้มีวงเงินจ้างที่ต่ำลง จนที่สุดได้เปิดประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้างและเซ็นสัญญาจ้างเหมา กับ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น