เชียงราย- ม็อบเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดจังหวัดเชียงราย เริ่มขยายวงหลังปิดถนนบริเวณสี่แยกแม่กรณ์ ยังไม่เป็นผล ขู่เตรียมระดมคนปิดสนามบินหวังเลียนแบบพันธมิตรฯ ด้านผู้ว่าฯ ระบุเป็นปัญหาระดับที่รัฐบาลต้องลงมาแก้ให้ ด้านนายอำเภอเริ่มหมดความอดทนเตรียมหาทางยุติภายในวันนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงราย ว่ากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในพื้นที่หลายอำเภอของ จ.เชียงราย เช่น อ.ดอยหลวง อ.เวียงแก่น อ.เทิง ฯลฯ ประมาณ 100 คน ได้ปักหลักปิดถนนพหลโยธินบริเวณสี่แยกแม่กรณ์ ต.แม่กรณ์ อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่ใช้สัญจรระหว่างตัวเมืองเชียงรายกับจังหวัดอื่นๆ เป็นวันที่ 2 ภายหลังจากช่วงเย็นวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ล่าสุดบรรดาแกนนำของกลุ่มเกษตรกรขู่ว่าอาจจะเคลื่อนขบวนไปปิดสนามบินเชียงราย ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย และกระจายไปปิดที่สามแยกทางไป อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่ใช้เชื่อมกับ จ.พะเยา และจ.เชียงใหม่ ด้วย โดยพวกเขาอยู่ระหว่างรอเกษตรกรที่ไม่ไปร่วมชุมนุมให้เดินทางไปสมทบกันที่จุดนัดพบดังกล่าว
ทั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้มีการขยายระยะเวลาโครงการรับจำนำข้าวโพดออกไปจนถึงวันที่ 28 ก.พ.2552 เนื่องจากพวกเขาอ้างว่ายังเหลือผลผลิตที่อยู่อีกกว่า 70,000 ตัน ขณะที่มีอยู่จำนวนประมาณ 702 ตัน ที่เก็บเกี่ยวแล้วและขนไปจำนำที่ไซโลของบริษัทเชียงรายกิจศิริไซโล 1995 จำกัด ตั้งอยู่หมู่ 2 ต.ปล้อง อ.เทิง จ.เชียงราย
ปรากฏว่า ช่วงเวลาประมาณ 05.00 น.ของวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา องค์การคลังสินค้า หรือ อคส.กลับแจ้งให้ทุกไซโลงดรับจำนำโดยไม่แจ้งล่วงหน้าทำให้มีข้าวโพด ที่ขนไปยังไซโลคงค้างอยู่เป็นจำนวนมาก
รายงานข่าวแจ้งว่า การปิดถนนได้ทำให้การจราจรมีปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากประชาชนบางส่วนไม่ทราบว่ามีการปิดถนนสายหลักตรงสี่แยกแม่กรณ์ และพากันออกมาทำงานหรือเดินทางไปมากับต่างจังหวัดในช่วงเช้า
ขณะที่กลุ่มเกษตรกรยังคงปักหลักรอฟังคำตอบจากจังหวัดและรัฐบาลใหม่อย่างเหนียวแน่นโดยที่จังหวัดโดยนายไตรสิทธิ์ สินสมบูรณ์ทอง ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ เนื่องจากเป็นโครงการรับจำนำที่เป็นอำนาจในระดับรัฐบาล จึงต้องรอให้มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหาเท่านั้น ส่วนการเจรจาให้ไซโลท้องถิ่นให้เข้ารับซื้อข้าวโพดจากกลุ่มเกษตรกรไปก่อนไม่มีความคืบหน้า เพราะให้ราคาที่ต่ำกว่าที่กลุ่มเกษตรกรต้องการ
ด้าน นายสมบัติ นิลประภา แกนนำผู้ประสานงานของกลุ่มเกษตรกร กล่าวว่ากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดยังคงยืนยันในข้อเรียกร้องเดิมคือให้มีการขยายระยะเวลาการรับจำนำไปจนต้นปี 2552 แต่ก็เห็นใจจังหวัดที่ยังไม่มีรัฐบาลอย่างเป็นทางการโดยมีเพียงรัฐบาลรักษาการ ดังนั้นก็ขอให้มีการนำข้าวโพดของเกษตรกรที่สีแล้วและขนมาได้นำไปเข้าโครงการรับจำนำแบบสำรองเอาไว้ก่อน โดยมีการชั่งและจดจำนวนตัวเลขและชื่อของชาวบ้านเอาไว้ก่อน เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาจึงค่อยมีการจ่ายเงินย้อนหลังตามบัญชีรายชื่อดังกล่าวก็ได้
สำหรับราคาที่เกษตรกรต้องการยังคงยืนพื้นตามราคาโครงการรับจำนำเดิมคือความชื้น 14.5% กิโลกรัมละ 8.50 บาท ความชื้น 30% กิโลกรัมละ 5.95 บาท ความชื้น 20.1% กิโลกรัมละ 7.21 บาท เป็นต้น เนื่องจากหากพวกเรานำออกมาขายกันเองตามท้องตลาดก็จะได้ราคาในความชื้น 14.5% กิโลกรัมละเพียง 4.90 บาทเท่านั้นซึ่งไม่คุ้มทุน
ขณะที่ช่วงเช้าวันเดียวกัน นายไตรสิทธิ์ สินสมบูรณ์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้มอบหมายให้นายนิมิตร วันไชยธนวงศ์ นายอำเภอเมืองเชียงราย ไปเจรจาหารือกับกลุ่มผู้ชุมนุมแต่ก็ไม่ได้ข้อยุติใดๆ ขณะที่นายไตรสิทธิ์เองเดินทางไปเป็นประธานในการเปิดธนาคารกรุงไทย สาขาป่าก่อไทยใหญ่ ในเขตเทศบาลนครเชียงราย และได้กล่าวว่าปัญหานี้ทางจังหวัดไม่สามารถจะดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมได้เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจ อย่างไรก็ตามทราบว่าการปิดถนนครั้งนี้มีคนอย่างมากแค่ 300 คน แต่กลับต้องสร้างความเสียหายให้กับคนอื่นเป็นจำนวนมาก ดังนั้นทางจังหวัดคงยอมไม่ได้และจะพยายามให้เรื่องเสร็จสิ้นในวันนี้.