xs
xsm
sm
md
lg

“ไพบูลย์” ปาฐกถาพิเศษ “สภาองค์กรชุมชนกับความหวังสังคมไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการออนไลน์ – “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สภาองค์กรชุมชนกับความหวังของสังคมไทย” ในงานประชุมระดับชาติครั้งแรกของสภาองค์กรชุมชนตำบลทั้ง 76 จังหวัด แนะยึด 3 เสาหลักสร้างความมั่นคงนำสังคม

ในการประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมชั้น 1 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้เชิญผู้แทนระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบลทั้ง 76 จังหวัด 152 คน โดยมีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สภาองค์กรชุมชนกับความหวังของสังคมไทย”

ทั้งนี้ มีใจความสำคัญว่า ความหวังของสังคมไทยก็อยู่ที่คนไทยที่มีบริบทแตกต่างกัน ทั้งในเมืองและชนบทซึ่งเป็นฐานรากของสังคม เชื่อว่า ฐานรากของชุมชน หมู่บ้าน มีชุมชนที่เข้มแข็ง รู้จักคิด สร้างสรรค์ระบบคิด การจัดการด้วยตัวเอง เป็นเครื่องชี้วัดถึงชุมชนมีฐานของความเข้มแข็ง ช่วยให้ฐานกลางและฐานบนมีความเข้มแข็งขึ้น

อาจารย์ไพบูลย์ ได้ให้ความคิดเห็นว่า หนทางแห่งความหวังนั้น มีเสา 3 หลัก เพื่อสร้างความมั่นคงนำสังคมไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน คือมีสุขทางกาย ทางจิตใจ ทางปัญญาหรือทางจิตวิญญาณ และทางสังคม

ชุมชนฐานรากที่มีสภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือการเชื่อมโยงไปสู่ความเข้มแข็ง สามารถจัดการตัวเองได้ สภาองค์กรชุมชนจึงเป็นร่มให้กับ ครอบครัว ชุมชน สภาองค์กรชุมชนนั้นชาวบ้านไม่ได้ทำเพียงลำพัง แต่ยังเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ในท้องถิ่นทั้งหน่วยงานรัฐ และยังประสานเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆ เช่น สภาพัฒนาการเมือง ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ สื่อ หน่วยงานของรัฐส่วนกลาง เป็นต้น จะเห็นว่าสภาองค์กรชุมชนถ้าทำงานเต็มตามศักยภาพแล้วจะสามารถเชื่อมโยงได้รอบทิศ สามารถสร้างสรรค์สังคมให้อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันได้

แนวทางที่จะพัฒนาสภาองค์กรชุมชนให้มีศักยภาพ ประสิทธิภาพ และมีคุณภาพสามารถปักฐานสร้างความมั่นคง นำพาสังคมสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันได้นั้น เสา 3 หลัก ที่กล่าวมา คือ หลักที่หนึ่ง ทำความดี เป็นการไม่ทำสิ่งที่เป็นโทษ อะไรที่ไม่ดี ทำสิ่งที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์ที่สร้างสรรค์ดีงาม เพื่อการพัฒนาจิตใจให้บริสุทธิ์

หลักที่สอง มีความสามรถ คือ ความสามารถในด้านความคิด ความสามารถทางเทคนิกวิธีการ และความสามารถในการจัดการ

หลักที่สาม ฉลาดเรียนรู้ คือ รู้จักเรียนรู้ ศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น ค้นหาสิ่งที่ดี เรียนรู้จากความสำเร็จ เพื่อจะได้นำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาให้ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะสรรพสิ่งย่อมเสื่อมอยู่เสมอ

สามเสาหลักนี้น่าจะเป็นวิธีคิดที่จะนำไปประยุกติใช้ในการพัฒนา โดยมีสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นสถาบันของประชาชนในระดับตำบล ทำหน้าที่รองรับการทำงานจากเสา 3 หลัก ให้ถือเป็นการสร้างแนวทางการทำงานใหม่ ทั้งนี้ต้องเน้นย้ำถึงเอกลักษณ์ในการทำงาน สภาองค์กรชุมชนต้องใช้ระบบความคิดร่วมกัน ให้เป็นหัวใจหลักในการนำพาการพัฒนาของประเทศ

นอกจากนี้อาจารย์ไพบูลย์ ยังได้ขยายความ เสา 3 หลักที่กล่าวมาแล้วข้างต้นไว้ 6 ประการ คือ ประการแรก ความไม่ประมาทและการคิดอย่างแยบคาย

ประการที่สอง ความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งตอนนี้สภาองค์กรชุมชนมีกฎหมายรองรับก็ไม่ควรกร่าง ควรอ่อนน้อมถ่อมตนไม่หวังประโยชน์ ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นคุณสมบัติของผู้มีกำลัง

ประการที่สาม เน้นความเป็นธรรมชาติ ทำให้กลมกลืนไปกับสิ่งที่เคยทำกันมา รวมถึงความพอเหมาะพอควร พอเพียง พอดี ไม่แปลกปลอม

ประการที่สี่ ความสามัคคีคือพลัง เชื่อว่าชุมชนท้องถิ่นอยู่ในวิสัยท์ที่มีความสามัคคี
ประการที่ห้า ความเพียร ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จ เพียงพยายาม มานะ อดทนไม่ท้อถอย งานสภาองค์กรชุมชนเพิ่งเริ่มต้น อุปสรรคมากมาย หนทางเดินยังอีกยาวไกล

และประการสุดท้าย อยากจะเห็นว่ามีการพัฒนาตัวชี้วัดความสุขหรือตัวชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันขึ้นมา เป็นตัวชี้วัดความสุขในระดับตำบลจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งอยู่ในวิสัยท์ที่สภาองค์กรชุมชนตำบลจะดำเนินการได้ ซึ่งที่ผ่านมามีการทำวิจัยเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้ว ตัวชี้วัดความสุขในระดับชุมชนนั้น แต่ละชุมชนควรคิดของตนเอง ระดมความคิดเห็นร่วมกัน พยายามทำให้สิ่งที่ดีเกิดขึ้น ทั้งนี้ ตัวชี้วัดระดับตำบลยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นจริงเป็นจัง

อาจารย์ไพบูลย์ย้ำอีกว่าเสา 3 หลัก จะเป็นฐานให้สภาองค์กรชุมชนตำบลมีความมั่นคงยั่งยืน ซึ่งไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ชุมชนฐานรากจะไม่เปลี่ยนแปลง ที่สำคัญต้องเชื่อมั่นว่าสภาองค์กรชุมชนจะเป็นสถาบันทางสังคม ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

กำลังโหลดความคิดเห็น