สธ.เดินหน้าดันกฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ.เหล้า หลัง บริษัทน้ำเมา ฉวยโอกาสโฆษณาเกลื่อน ขู่ไม่ร่วมมือใช้กฎหมายแน่ ปรับไม่เกิน 5 แสน ไม่ปรับปรุงปรับวันละ 5 หมื่น
วันที่ 15 ตุลาคม นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อร่างกฎหมายลูกตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกฮอล์ 2551 ซึ่งมี ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ประชุมเพื่อร่างกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่อง การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ...... ตามมาตรา 32 ที่ควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามแสดงชื่อ หรือเครื่องหมาย ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มทั้งทางตรงทางอ้อม โดยได้ข้อสรุปเรื่องการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม ส่งเสริมวัฒนธรรม ค่านิยมที่ดีงามของสังคม
“กฎกระทรวงกำหนดว่า เนื้อหาของโฆษณาต้องไม่ปรากฏภาพ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่สามารถแสดงภาพโลโก้ เครื่องหมายการค้าของเครื่องดื่มแอลกออฮอล์ หรือโลโก้บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จดทะเบียนไว้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ต้องเป็นโลโก้ที่ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์อยู่รวมในโลโก้นั้นด้วย และไม่มีข้อความหรือสโลแกนที่ส่งเสริม ชักชวนให้ดื่มเหล้า” นพ.สมาน กล่าว
นพ.สมาน กล่าวต่อว่า ส่วนประเภทของโฆษณาสร้างสรรค์สังคม กำหนดสื่อเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.สื่อที่เป็นภาพเคลื่อนไหว ทีวีสาธารณะ เคเบิลทีวี วีซีดี โรงภาพยนตร์ 2.ภาพนิ่ง สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ หนังสือพิมพ์ นิตรสาร 3.สื่ออื่นๆ เช่น โฆษณากลางแจ้ง บิลบอร์ด แผ่นพับ โบรชัวร์ โดยกำหนดให้สื่อประเภทภาพเคลื่อนไหวแสดงโลโก้สินค้า หรือ โลโก้ชื่อบริษัทได้ นานไม่เกินร้อยละ 5 ของเวลาโฆษณาทั้งหมด เช่น โฆษณา 100 วินาที แสดงภาพโลโก้ได้ไม่เกิน 5 วินาที และต้องไม่ออกเสียงชื่อสินค้า และพื้นที่ในการวางโลโก้ต้องมีขนาดไม่เกินร้อยละ 5ของหน้าจอทีวี สื่อประเภทภาพนิ่ง ขนาดของโลโก้ จะต้องมีขนาดไม่เกินร้อยละ 5 ของพื้นที่โฆษณา ส่วนสื่ออื่นๆ ขนาดของโลโก้ จะต้องมีขนาดไม่เกินร้อยละ 3 ของป้าย
“คณะกรรมการมีความเห็นเป็นทิศทางเดียวกันว่า โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้กระทำผิด ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งหมด ถึงแม้ยังไม่มีการออกกฎกระทรวง การกระทำของบริษัทเครื่องแอลกอฮอล์ขณะนี้ ก็ถือว่า ผิดตามมาตรา 32 เพราะกฎหมายกำหนดชัดเจนว่าไม่สามารถแสดงตัวผลิตภัณฑ์สินค้าได้ แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ จึงยังไม่มีการลงโทษ อยากให้ผู้ผลิตแสดงสปิริตปฏิบัติตามกฎหมาย โดยไม่ใช่ช่องว่างของกฎหมายฉวยโอกาสในการโฆษณา” นพ.สมาน กล่าว
นพ.สมาน กล่าวว่า สำหรับโทษการฝ่าฝืนกฎกระทรวงดังกล่าว ยึดตามโทษของมาตรา 32 คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากยังฝ่าฝืนไม่แก้ไข มีโทษปรับเพิ่มอีกวันละ 5 หมื่นบาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่มีการแจ้งความดำเนินคดี โดยขั้นตอนต่อจากนี้ จะนำร่างประกาศดังกล่าว เสนอ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.สาธารณสุข เพื่อนำร่างประกาศดังกล่าวเสนอต่อ ครม.และนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน