xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านอุบลฯต้านโรงไฟฟ้าพลังแกลบ หวั่นมลพิษอากาศ-เสียงกระทบชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีให้ความรู้ถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ของโรงไฟฟ้าชีวมวลกับชาวบ้านในอ.สว่างวีระวงส์ จ.อุบลราชธานี
อุบลราชธานี - ชาวบ้านอำเภอสว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ผนึกนักวิชาการ นักกฎหมาย จัดเวทีประชาคมวิจารณ์โรงงานไฟฟ้าพลังชีวมวล ใช้แกลบเป็นพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้า หลังสภา อบต.หมกเม็ดแจงเพียงประเด็นผลประโยชน์กับชุมชน แต่ไม่ยอมแจงผลกระทบมลพิษทางเสียง/ทางอากาศ ทั้งโรงไฟฟ้าเองก็เลี่ยงที่จะผลิตให้ถึง 10 เมกะวัตต์ หลบการทำประชาพิจารณ์ สุดท้ายขอทำประชาพิจารณ์ใหม่ เพื่อตัดสินใจกันอีกรอบ

เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มนักกฏหมายร่วมกับนักวิชาการมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประกอบด้วยนายสุรศักดิ์ รอนใหม่ ตัวแทนทนายความ นางกมลวรรณ ชูชื่นใจ นายสุรสม กฤษณะจูฑะ ตัวแทนอาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดเวทีประชาคมให้ข้อมูลเรื่องการสร้างไฟฟ้าชีวมวล (พลังงานทางเลือกใหม่) แก่ชาวบ้านคำสร้างไชย หมู่ 17 ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ซึ่งบริษัทบัวสมหมายผลิตไฟฟ้าจำกัด จ.ร้อยเอ็ด มีโครงการสร้างโรงไฟฟ้า กำลังผลิตกระแสไฟฟ้าวันละ 9.9 เมกะวัตต์ โดยใช้แกลบเป็นวัตถุดิบผลิตพลังงานไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้นำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิก อบต.ไปดูโรงงานต้นแบบที่ตั้งอยู่ใน ต.เหนือ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ต่อจากนั้นวันที่ 16 ต.ค.ได้กลับมาทำประชาคมกับชาวบ้าน โดยไม่ได้ให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน แต่ให้ข้อมูลด้านบวกถ้ามีโรงงานผลิตไฟฟ้ามาตั้งในชุมชนบ้านคำสร้างไชย ชาวบ้านจะมีงานทำและได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก ทำให้ชาวบ้านที่ไม่ทราบถึงผลกระทบ เห็นชอบให้บริษัทบัวสมหมายผลิตไฟฟ้าจำกัด สร้างโรงไฟฟ้าขึ้นในชุมชน และวันที่ 22 ต.ค. อบต.ท่าช้างได้นำความเห็นของชาวบ้านเข้าสู่การประชุมสภา พร้อมทั้งมีมติอนุญาตให้สร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าได้เช่นกัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ต.ค.นายศุภนิตย์ สิมาพันธุ์ ตัวแทนของชาวบ้านที่ทราบรายละเอียดของผลกระทบเบื้องต้นคือ ต้องมีการขนย้ายแกลบผ่านชุมชนเข้าสู่ตัวโรงงานที่ตั้งอยู่กลางชุมชนวันละ 250 ตัน หรือประมาณ 97,000 ตันต่อปี มีความเป็นไปได้ที่ต้องมีรถบรรทุกแล่นผ่านชุมชนตลอดทั้งวัน เพื่อนำแกลบป้อนเข้าสู่โรงงานอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดเป็นมลพิษทางเสียงระหว่างการขนย้าย และในการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังมีมลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละอองระหว่างรถบรรทุกขนย้ายแกลบ และเกิดกลุ่มควันรวมทั้งขี้เถ้าที่เกิดจากการเผาไหม้ของแกลบเฉลี่ยราววันละ 35 ตันต่อวัน

สำหรับเครื่องใช้ดักจับขี้เถ้าที่โรงงานใช้ก็เป็นเครื่องมือที่ผลิตจากประเทศจีน ซึ่งมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานสากลทำให้ชาวบ้านคำสร้างไชยเริ่มไม่มั่นใจ จึงมีหนังสือแย้งขอให้สภา อบต.ชะลอการอนุญาตให้โรงงานเข้ามาตั้งในชุมชน พร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งทางอำเภอ เพื่อขอให้ทำประชาคมใหม่ โดยให้นักวิชาการที่มีความรู้การทำงานของโรงไฟฟ้าชีวมวลมาให้ข้อมูลทั้งผลดีผลเสียกับชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านร่วมกันตัดสินใจอนาคตของคนในชุมชนอีกครั้ง

นักกฎหมายและนักวิชาการของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงมาให้ความรู้เรื่องสิทธิตามกฎหมายของชาวบ้าน รวมทั้งผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล และกลุ่มนักวิชาการได้ตั้งข้อสังเกตที่โรงงานพยายามหลบเลี่ยงกฎหมาย โดยกำหนดกำลังผลิตไว้เพียงวันละ 9.9 เมกะวัตต์ต่อวัน เพราะหากโรงงานมีกำลังผลิตไฟฟ้าถึง 10 เมกะวัตต์ต่อวัน จำเป็นต้องทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และทำประชาพิจารณ์ตามข้อบัญญัติของกฏหมายด้วย

ด้าน นายฐากูร ประจญศึก ปลัดอำเภอที่มาร่วมเวทีประชาคมกล่าวว่า อำเภอยังไม่ได้รับเรื่องการขออนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลจาก อบต.ท่าช้าง และไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ที่ชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นต้องร่วมกันคิดให้รอบครอบก่อนตัดสินใจ สำหรับทางราชการหากชาวบ้านจะเอาโรงไฟฟ้าหรือไม่เอา ก็ยินดีทำความต้องการของชาวบ้าน และยืนยันว่ายังไม่มีเรื่องการขออนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าของ บริษัท บัวสมหมายผลิตไฟฟ้าจำกัด จ.ร้อยเอ็ด เข้าสู่การพิจารณาของอำเภอขณะนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการทำเวทีประชาคมระหว่างนักวิชาการและชาวบ้านวันนี้จะมีหนังสืออย่างเป็นทางการให้สภาตำบล ชะลอการอนุญาตสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้ไปก่อน และจะจัดประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้าน นักวิชาการ รวมทั้งโรงงานไฟฟ้าอีกครั้ง เพื่อหาผลสรุปที่ชัดเจนแน่นอนอีกครั้งด้วย
โรงไฟฟ้าจากแกลบที่ชาวบ้านคำสร้างไชย เกรงเกิดมลพิษทางอากาศและเสียงกับชุมชน


กำลังโหลดความคิดเห็น