หนองคาย- จังหวัดหนองคายระดมสมองหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน แก้ปัญหาบ่อกำจัดขยะดงนาเทา หลังชาวบ้านร้องเรียนและคัดค้านการนำขยะไปทิ้ง พร้อมกำหนดให้ตั้งคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงและแนวทางแก้ไข ลงพื้นที่ทำประชาพิจารณ์อีกครั้งหลังทราบแนวทางแก้ไขที่ชัดเจนแล้ว
เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (18 พ.ย.) ที่ห้องประชุมท้องถิ่น ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดหนองคาย นายชัยวัฒน์ รัฐขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาบ่อกำจัดขยะของเทศบาลเมืองหนองคาย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ คณะผู้บริหารเทศบาลเมืองหนองคาย องค์การบริหารส่วนตำบลสระใคร และชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนร่วมประชุม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา มีชาวบ้านจาก 5 หมู่บ้าน ในตำบลสระใคร อ.สระใคร รวมตัวกันประท้วงปิดถนนทางเข้าออกบ่อกำจัดขยะของเทศบาลเมืองหนองคาย บริเวณบ้านดงนาเทา เนื่องจากไม่พอใจที่มีน้ำเสียจากบ่อกำจัดขยะไหลลงสู่ลำห้วยสาธารณะ ทุ่งนา ขยะส่งกลิ่นเหม็น ปัญหาแมลงวันมีจำนวนมากและถนนทางเข้าหมู่บ้านชำรุดเป็นหลุมเป็นบ่อ โดยชาวบ้านยืนกรานว่าให้ยุติการนำขยะมาทิ้งบริเวณดังกล่าว
ส่วนเทศบาลเมืองหนองคายได้ทำตามข้อเสนอ และนำขยะไปทิ้งที่เทศบาลเมืองท่าบ่อก่อนเป็นการชั่วคราว และได้มีการเรียกทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อหาหนทางแก้ไขในครั้งนี้ร่วมกัน โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาค 6 อุดรธานี แจ้งว่า จากการลงพื้นที่สำรวจแล้วพบว่า มีข้อบกพร่องของบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าจำนวนขยะ อีกทั้งการปล่อยพื้นที่ไว้นานโดยไม่ใช้ประโยชน์ทำให้ระบบต่างๆ อาจสึกหรอ หรือใช้งานได้ไม่เต็มศักยภาพ ไม่มีการฝังกลบขยะทุกวันทำให้ปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้น จนล้นพื้นที่
ส่งผลให้การบำบัดน้ำเสียไม่ได้ประสิทธิภาพ อีกทั้งต้องสำรวจเพิ่มเติมว่าแท้จริงแล้วข้อบกพร่องเกิดจากระบบหรือการบริหารจัดการ
นายทรงพล โกวิทศิริกุล นายกเทศมนตรีเมืองหนองคาย กล่าวว่า บ่อกำจัดขยะของเทศบาลแห่งนี้ อยู่ห่างจากเขตเทศบาลเมืองหนองคาย 22 กิโลเมตร เมื่อปี 2540 เทศบาลได้จัดซื้อที่ดิน 70 ไร่ เป็นเงิน 5,800,000 บาทเศษ ได้รับการสำรวจออกแบบ ศึกษาความเหมาะสมจากบริษัทเอกชน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุนงบประมาณดำเนินการ 66 ล้านบาทเศษ รวมแล้วใช้งบประมาณ 76,750,000 บาท และเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2541 เสร็จสิ้นในปี 2544 ระหว่างนั้นยังไม่ได้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่บ่อกำจัดขยะ
จนกระทั่งปี 2549 เทศบาลเมืองหนองคายจึงได้นำขยะมาทิ้งบริเวณดังกล่าว โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้เคียง 18 แห่ง นำขยะมาทิ้งร่วมด้วย เฉลี่ยในแต่ละวันจะมีการทิ้งขยะประมาณ 40-48 ตัน จนกระทั่งเกิดปัญหาชาวบ้านปิดถนนประท้วงดังกล่าวขึ้น
ด้าน นายชัยวัฒน์ รัฐขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า กรณีนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายได้สั่งการให้พิจารณาหาสาเหตุที่แท้จริงว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไรแล้วหาทางปรับปรุงแก้ไข หากจะปิดการใช้งานบ่อกำจัดขยะทันที คงไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้ลงทุนไป
เบื้องต้นให้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริง นำเสนอแนวทางแก้ปัญหา แล้วนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่พิจารณา เมื่อได้แนวทางที่ชัดเจนแล้วจึงลงพื้นที่ทำประชาคมกับชาวบ้านเสนอทางออกร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง