ศรีสะเกษ - ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ นำชาวบ้านฟื้นฟูประเพณี “ลงแขกเกี่ยวข้าว” เพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณีเก็บเกี่ยวแบบโบราณสร้างความสามัคคีในชุมชน พร้อมชูนโยบายเกษตรอินทรีย์ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนา จ.ศรีสะเกษ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้ “กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้หมด”
วันนี้ (18 พ.ย.) ที่บริเวณทุ่งนา ปากทางเข้าหมู่บ้านคูซอด ม.2 ต.คูซอด อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดการลงแขกเกี่ยวข้าว ที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คูซอด จัดขึ้น เพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว แบบโบราณ ให้กลับคืนสู่ชุมชน และเป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคี ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยมีเกษตรกรประชาชน และเยาวชนเข้าร่วมกว่า 500 คน
พร้อมกันนี้ นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ และคณะได้ มอบผ้าห่มกันหนาว พันธุ์ปลาให้กับประชาชนชาว ต.คูซอด ก่อนร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลาลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติด้ว
นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ กล่าวว่า การประกอบอาชีพเกษตรกรรมในปัจจุบัน เกษตรกรส่วนใหญ่ มุ่งเน้นเรื่องการแข่งขันด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญโดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ เช่น การใช้สารเคมีแทนสารอินทรีย์ เพื่อเร่งผลผลิต การใช้รถจักรเกี่ยวข้าวแทนแรงงานคน ทำให้วัฒนธรรมการลงแขกเกี่ยวข้าว ที่เคยทำกันมาในอดีตหายไป ไม่สืบทอดถึงเยาวชนรุ่นหลัง
ดังนั้น จ.ศรีสะเกษ จึงได้มีโครงการรณรงค์ฟื้นฟูประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าว และจัดกิจกรรม “วันกลับคืนสู่ไร่นา เกษตรอินทรีย์ วิถีศรีสะเกษ” มาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นให้ชาวนา เห็นความสำคัญ ด้านวัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิตข้าว เช่น พิธีกรรมเลี้ยงผีตาแฮก การใช้กระบือไถนาแทนเครื่องจักรกล การลงแขกปลูกข้าวและการเก็บเกี่ยว การใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี เป็นต้น
โดยเฉพาะเรื่องปุ๋ย นั้น จ.ศรีสะเกษ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยใช้เอง เพื่อลดต้นทุนการผลิต และขณะนี้ได้รณรงค์เรื่องปุ๋ยอินทรีย์ โดยกระจายโรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไปยังทุกอำเภอในจ.ศรีสะเกษ เพราะปัจจุบันปุ๋ยเคมีมีราคาแพง เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม และรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการไถ่กลบตอซังข้าวหลังเก็บเกี่ยว พร้อมเพิ่มพลังความสมบูรณ์ของดินด้วยพืชตระกูลถั่ว หว่านให้ทั่วด้วยปุ๋ยอินทรีย์ จะได้ผลผลิตดี และชีวีปลอดภัย
“ดังนั้น โครงการลงแขกเกี่ยวข้าวในครั้งนี้ จะขยายผลไปสู่ทุกหมู่บ้านตำบลในจ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนาด้านการเกษตร เพื่อให้พี่น้องประชาชนชาวศรีสะเกษกลับมาอยู่บ้านเกิดประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างพอเพียง ได้กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี และหนี้สินหมดไป” นายเสนีย์ กล่าว