พิษณุโลก - หนาวมาเยือน! ชมรมสื่อมวลชนจังหวัดพิษณุโลกร่วมกับภาคเอกชน ลุยแจกผ้าห่ม 15-16 พ.ย.นี้ ที่บ้านรักไทยในเขตอุทยานทุ่งแสลงหลวง (สล.12) หัวหน้าทุ่งฯ ชวนทัพนักข่าว ท้าพิสูจน์ “ฝายแม้ว” ท่ามกลางนักท่องเที่ยว ที่เสาะหาเส้นทางใหม่เดินเท้าไปทุ่งโนนสน
รายงานข่าวแจ้งว่า ชมรมสื่อมวลชน ที่นำโดย นายสนาม คงเนตร ประธานชมรมฯ ร่วมกับภาคเอกชนในจังหวัดพิษณุโลกได้รับการบริจาคผ้มห่มจำนวน 500 ผืน และถุงเท้าจำนวน 600 คู่ นำไปบริจาคให้แก่ชาวบ้านรักไทย เผ่าไทย ที่อยู่บนภูเขาสูง ในพื้นที่กันออก ของอุทยานทุ่งแสลงหลวง กำหนดแจกในช่วงเช้าของวันที่ 16 บริเวณโรงเรียนบ้านรักไทย หมู่ 7 ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
พื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางไป “ทุ่งโนนสน” ณ หน่วยพิทักษ์อุทยานทุ่งแสลงหลวง โดยใช้ระยะเวลาเดินท้าวจำนวน 7 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับเดินเท้าจากหน่วยพิทักษ์(หนองแม่นา) จ.เพชรบูรณ์ที่ใช้เวลาเดินทางจำนวน 14 กิโลเมตร โดยที่ทุ่งโนนสน ถือเป็น เป้าหมายแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของทุ่งแสลงหลวง
นายอุดม ใบศิริ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก ในฐานะเจ้าของพื้นที่ เปิดเผยว่า ยินดีต้อนรับสื่อมวลชนที่ช่วงโปรโมท สล.12 เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ที่เชื่อมกันทั้งหมดของ หน่วยฯหนองแม่นา และที่ทำการทุ่งแสลงหลวง กม.80 ส่วนกรณีข่าวโด่งดังคึกโคร่ม “ฝายแม้ว”นั้น พร้อมให้นักข่าว เดินทางไปพิสูจน์ความจริง ซึ่งก่อสร้างกระจายไปทั่วทุ่งแสลงหลวงในพื้นที่กันออกของชาวบ้านในเขตอุทยานทั้งหมด 350 ตัว
นายพิทักษ์ สุดจันทร์ ประธานชมรมท่องเที่ยวทุ่งโนนสน (อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7) กล่าวว่า ชาวบ้านรักไทย, เผ่าไทย, ซำต้องและร่มเกล้าใช้แรงงานที่จากการว่างเว้นทำไร่ข้าวโพดก็มาช่วยทำฝายของ หน่วยพิทักษ์ป่า สล.12 (ทุ่งแสลงหลวง) โดยได้รับค่าแรงวันละ 170 บาท ทำฝายในช่วง 2 เดือนก็สร้างรายได้อย่างงาม และเป็นช่วงว่างเว้นจากการเป็น ลูกหาบ ที่พาคณะทัวร์เที่ยวเดินทางป่า ไปที่ “ทุ่งโนนสน”ซึ่งคิดค่าใช้จ่าย หัวละพันบาท (ค้างคืน) ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวแห่ขึ้นไปแล้วกว่า 50 คณะ และยังมีจองอีกหลายคณะ
ส่วนกรณี “ฝายแม้ว” ที่สร้างในพื้นที่ทำกินในเขตทุ่งแสลงหลวง ชาวบ้านบอกว่า เป็นเรื่องดี สร้างความชุ่มชื้นในดิน สามารถเพาะปลูกพืชผักสวนครัวและมีน้ำใช้ในลำธารลอดทั้งปี แต่น่าเสียดาย มีแต่ข่าวโจมตี “ฝายแม้ว” ไม่ได้บอกคุณประโยชน์ ทั้งที่ฝายแม้วช่วยปลูกพืชผสมผสานริมลำห้วยเป็นแนวยาว หากสร้างฝายเยอะๆ น้ำป่ามาก็ไม่ทะลักท่วมตัวอำเภอเนินมะปรางที่อยู่ด้านล่าง