xs
xsm
sm
md
lg

ปราชญ์เมืองแพร่วิพากษ์งาน ส.ป.ก.จัดงาน “ปราชญ์เกษตรเหนือ” ยกก้น รมต.-เมินท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่ – ปราชญ์ชาวบ้านเมืองแพร่วิพากษ์งาน “ปราชญ์เกษตรภาคเหนือ” ชี้ ส.ป.ก.ทุ่มงบจัดงานหนุนแนวคิดท้องถิ่น ระดมปราชญ์ท้องถิ่น 17 จังหวัดภาคเหนือร่วมงาน แต่กลับเมินการมีส่วนร่วมเชิงกระบวนการ มีแต่ยกก้น รมต.-เน้นวิถีระบบราชการ บ่นขาดมีส่วนร่วมเชิงกระบวน

นโยบายการยกระดับปราชญ์พื้นบ้านของสำนักงานปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) เพื่อเป็นต้นแบบการขับเคลื่อนเกษตรกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนำไปใช้กับประชาชนที่ถือครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหันไปให้ความสำคัญกับวิถีการผลิตที่ใช้ทุนเดิมของตนเอง ลดการใช้ปัจจัยภายนอกในการเพิ่มผลผลิต อาทิ การพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในไร่นาพัฒนาสู่การเพิ่มผลผลิตที่หลากหลายต่อเนื่องป้อนตลาดยุคใหม่ปลอดสารพิษในอาหารรวมทั้งการพัฒนาความเป็นอยู่ของครอบครัวเกษตรกร

โดย ส.ป.ก.คัดเลือกและแต่งตั้งปราชญ์ชาวบ้านตามแนวทางดังกล่าวแล้วจำนวน 2 รุ่น ทั่วประเทศรวม 50 คน ซึ่งมีปราชญ์คนสำคัญๆ เช่น นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม รอบรู้เรื่องป่าต้นแบบกินอยู่ฟื้นปูป่าเรื่องเดียวกัน ที่ฉะเชิงเทรา, “ลุงโชค” หรือนายโชคดี ปะละโลกานนท์ ฟื้นฟูป่าชุมชนที่เขาแผงม้า ที่นครราชสีมา, พระครูสุพัฒนันทคุณ จังหวัดน่าน เป็นต้น

ล่าสุด ส.ป.ก.ได้ร่วมกับวัดทุ่งศรี ต.ทุ่งศรี อ.ร้องกวาง จ.แพร่ จัดงานทิศทางและกลไกปราชญ์ ฟื้นฟูวิถีชุมชนในการทำเกษตรกรรม ภาคเหนือ โดยมีนายสมพัฒน์ แก้วพิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาร่วมเป็นประธานเปิดงานเมื่อ 6 พ.ย.51 ที่ผ่านมา โดยในงานมีการสาธิตและแสดงนิทรรศการ ภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้านที่ใช้ในการดำรงชีวิตในชุมชนได้อย่างสะดวกสบายและมีความสุข มีการนำเสนอผลงานปราชญ์หลายด้าน อาทิ ด้านสุขภาพ โดยใช้ภูมิปัญญาและสมุนไพรในท้องถิ่น ด้านอาหารประจำวัน ด้านการทำการเกษตร และงานด้านแปรรูปผลิตผลเกษตรรวมทั้งการทำปุ๋ยใช้เอง

โดย รมช.กระทรวงเกษตรฯ ได้เข้าพบปราชญ์ชุมชน 17 จังหวัดที่บริเวณงานและเดินทางไปชมการสาธิตการใช้กระบือไถนา ที่ธนาคารควาย บ้านแม่ทราย ต.แม่ทราย อ.ร้องกวาง จ.แพร่ และได้มอบนโยบายให้กับข้าราชการสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดแพร่และจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ พร้อมทั้งกระตุ้นเกษตรกรให้หันมาเห็นความสำคัญของทุนเดิม วิถีการผลิตแบบเก่าๆ ที่สามารถลดต้นทุนแก้ปัญหาได้หลากหลาย สามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

ขณะที่พระครูวิศาลวรานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรี กล่าวว่า การจัดงานดังกล่าวไม่ได้มองเพียงกิจกรรมของสำนักงาน ส.ป.ก.เท่านั้น แต่ถือเป็นการจัดงานระดมภาคีเครือข่ายภูมิปัญญาพื้นบ้านใน 17 จังหวัดภาคเหนือ มาแสดงในงานเพื่อเป็นทางออกและทางเลือกใหม่ของประชาชนที่ยังคงอยู่ในวิถีเกษตรกรรม ที่สมควรใช้จ่ายดำรงชีวิตอยู่ในแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งด้านอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย รวมทั้งเครื่องใช้ไม้สอยและที่สำคัญหลักคิดเดิมความเชื่อด้านวัฒนธรรมถือเป็นประเด็นสำคัญมาก

ด้าน นายก๋วน เสียงหวาน หมอพื้นบ้านจากบ้านห้วยลากปืน ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ กล่าวว่า จากวัตถุประสงค์แล้วน่าสนใจที่ส่งเสริมบทบาทของปราชญ์ชาวบ้านมาใช้กับภาคเกษตรกรรม แต่กิจกรรมของงานดูเหมือนว่า บทบาทของปราชญ์ที่เดินทางมาจากทุกส่วนของจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ กลับไม่มีบทบาทในกิจกรรมมากนัก

การจัดงานเน้นไปที่ตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นหลัก แม้การกล่าวรายงานก็ยังเป็นการรายงานของนายอานันท์ ภูสิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งเดินทางมาด้วยกันกับรัฐมนตรี และเวทีไม่เปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากปราชญ์ เป็นอันว่า ปราชญ์ในงานเพียงได้เข้าร่วมเท่านั้น กิจกรรมดังกล่าวจึงมิได้ส่งเสริมให้ตัวแทนปราชญ์ในภาคเหนือได้แสดงบทบาท สะท้อนภาพของการไม่ได้ให้ความสำคัญกับปราชญ์อย่างแท้จริง ยังคงเชื่อมั่นในระเบียบวิธีการรายงานของระบบราชการเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้การลงไปส่งเสริมในชุมชน ชาวบ้านและเกษตรกรก็ต้องเอาพิธีการแบบราชการเข้าไปใช้ ทำให้ไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

กำลังโหลดความคิดเห็น