ศรีสะเกษ – แฉแก๊งหัวคะแนน “ธีระ ไตรสรณกุล” ส.ส.ทาส “พลังแม้ว” ศรีสะเกษ ตัวการแสบเกณฑ์ชาว ต.กระแชง สวมเสื้อแดงชุมนุมปิดล้อมหน้าชุมชนศีรษะอโศก อ.กันทรลักษ์ อ้างทวงคืนที่สาธารณะ 43 ไร่ และไม่พอใจชาวบ้านชุมชนศีรษะอโศกร่วมชุมนุมพันธมิตรฯ ด้านผู้นำศีรษะอโศกระบุเป็นฝีมือกลุ่มการเมืองที่ไม่พอใจและต้องการกดดันศีรษะอโศกที่ยืนเคียงข้างพันธมิตรฯ แต่ทำอะไรไม่ได้จึงงั ดวิชามารหาเรื่องมาโจมตี ชี้ชุมชนศีรษะอโศกใช้ที่ดินสาธารณะดังกล่าวเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมาตลอดอยู่แล้ว หาก อบต.ต้องการนำไปใช้เพื่อการอื่น ที่ไม่ทำลายป่าไม้พร้อมเจรจาหาทางออกร่วมกัน
วันนี้ (6 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่กลุ่มนักการเมืองพรรคพลังประชาชน (พชป.) จ.ศรีสะเกษ นำโดย นายทองสี พิมาทัย ผู้ใหญ่บ้านกระแชงเหนือ ม.1 ต.กระแชง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ และนายใส ตาระพันธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กระแชง ได้เกณฑ์ชาวบ้านในเขต ต.กระแชง เรียกตัวเองว่า “กลุ่มคนรักกระแชง” สวมเสื้อแดงเขียนข้อความ “แนวร่วมต่อต้านเผด็จการ” จำนวนร่วม 1,000 คน ออกมาชุมนุมพร้อมตั้งเวทีปราศรัยที่บริเวณหน้าที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลกระแชง ตรงข้ามกับ ชุมชนศีรษะอโศก ม.15 ต.กระแชง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวานนี้ ( 5 พ.ย.)
โดยอ้างข้อเรียกร้องเพื่อทวงคืนที่สาธารณะประโยชน์ 44 ไร่ ที่ชุมชนศีรษะอโศกนำไปใช้ประโยชน์ และไม่พอใจที่กลุ่มชาวบ้านในหมู่บ้านชุมชนศีรษะอโศก เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ ทำให้ ต.กระแชง ถูกมองว่าเป็นหมู่บ้านพันธมิตรฯ นั้น
ล่าสุด นายเลิกคะนอง เทพสุรินทร์ ผู้ใหญ่บ้านชุมชนศีรษะอโศก หมู่ 15 ต.กระแชง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ชาวศีรษะอโศกได้นำที่ดินสาธารณประโยชน์จำนวน 44 ไร่ดังกล่าวไปใช้ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมมาโดยตลอด เช่น จัดเป็นที่อบรมเกษตรกรรมไร้สารพิษ, ปุ๋ยชีวภาพ, น้ำยากำจัดแมลงจากธรรมชาติ, อบรมเรื่องยาเสพติด และมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด, สหกรณ์จังหวัด และหน่วยงานต่าง ๆ สนใจเข้ามาฝึกอบรมปีละหลายพันคน ซึ่งที่สาธารณะแห่งนี้ได้ใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวมมานานหลายสิบปีแล้ว และขณะนี้ได้ทำการสร้างอาคาร เช่น ห้องพัก โรงอาหาร ห้องน้ำ ขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ที่มาเข้ารับการอบรมดังกล่าวทั้งสิ้น
ชุมชนศีรษะอโศก มีพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด 200 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่ซื้อมาด้วยเงินของชุมชนศีรษะอโศก และได้สร้างเป็นหมู่บ้านถูกต้องตามกฎหมายชื่อหมู่บ้านชุมชนศีรษะอโศก หมู่ 15 ต.กระแชง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ โดยมีบ้านเลขที่อยู่ทั้งหมดประมาณ 300 ครอบครัว ซึ่งอยู่จริงแล้วกว่า 100 หลัง มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) 2 คน ผู้ใหญ่บ้าน 1 คน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน ตามปกติเหมือนหมู่บ้านทั่วไป และทำมาหากินโดยอาศัยการทำเกษตรเป็นหลัก พอเก็บเงินได้ก็ไปหาซื้อที่ดินเพื่อทำนาทำไร่อยู่ห่างออกไปโดยใช้รูปแบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากว่า 30 ปีแล้ว
นายเลิกคะนอง กล่าวต่อว่า ในการดำรงชีวิตประจำวันนั้น เนื่องจากพวกเรามีความชำนาญในการแปรรูปพืชผักผลไม้ เป็นทั้งยา เสื้อผ้าอาภรณ์ อาหารการกิน เครื่องใช้ต่างๆ และได้มีการทำการค้าด้วย เช่น ทำปุ๋ยชีวภาพได้ก็ขายในราคาถูกๆ ซึ่งที่นี่มีวัฒนธรรม เฉพาะของชุมชน คือ การไม่กินเนื้อสัตว์ ถือศีล 5 ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ของใช้ต่างๆ เราถือว่าเป็นสมบัติส่วนกลาง เงินทองที่ค้าขายมาได้จะเอาเป็นของส่วนกลางหมด และการใช้จ่ายก็เป็นส่วนกลาง มีโรงครัวทำอาหารกินด้วยกัน
ส่วนกรณีที่ดินสาธารณะ 43 ไร่ดังกล่าวนั้น เดิมเป็นป่าช้าเก่าเป็นที่สาธารณะประโยชน์และกลุ่มสมาชิกชุมชนศีรษะอโศกทุกคนได้ช่วยกันดูแลป่าไม้ ปลูกต้นไม้เสริมตลอด ถ้าหน่วยงานอื่นที่คิดว่าจะมาใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้ก็ให้เข้ามาติดต่อพูดคุยกันว่าจะทำอะไร และถ้าทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมพวกเราก็ไม่ขัดข้องอะไร แต่หากมาสร้างอะไรแล้วเป็นการทำลายป่าพวกเราก็จะขอเจรจาว่า อาจจะซื้อที่ดินพื้นที่อื่นแทนให้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนได้หรือไม่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการเจรจาตกลงกันในเรื่องนี้แต่อย่างใด
นายเลิกคะนอง กล่าวอีกว่า เรื่องการชุมนุมต่อต้านที่เกิดขึ้นครั้งนี้คาดว่าน่าจะมีคนไม่ชอบแนวทางการเมืองของพวกเรา เพราะพวกเราได้มีการประกาศอย่างชัดเจนว่า จะอยู่เคียงข้างฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อนักการเมืองหรือชาวบ้านบางกลุ่มไม่พอใจแนวทางการเมืองนี้ก็อาจแสดงพลังให้รู้สึกว่าเป็นการกดดันพวกเราได้ พอไม่มีเรื่องที่จะทำอะไรได้ จึงได้หยิบเอาประเด็นเรื่องที่สาธารณะขึ้นมาโจมตี
ส่วนการเปิดสถานีวิทยุชุมชนคลื่น 107.5 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นที่ถ่ายทอดสดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี (ASTV) นั้น ถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งของประชาชน ให้ผู้ฟังใช้วิจารณญาณในการฟัง ซึ่งเราคิดว่าดีกว่าคลื่นวิทยุอื่นๆ ที่เปิดเพลงโฆษณาขายสินค้าอย่างเดียว อย่างน้อยรายการสถานีวิทยุแห่งนี้ก็ยังมีนักวิชาการต่างๆ ออกมาให้แง่คิดทางการเมืองอีกมุมหนึ่งให้ฟัง จริงอยู่ว่าอาจมีการใช้ภาษาทางการเมืองที่แรงอยู่บ้าง แต่ในนั้นก็แฝงด้วยเนื้อหามากมายเช่นเดียวกัน
นางเริญ ธุระพันธ์ อายุ 39 ปี เจ้าหน้าที่ประจำร้านหนึ่งน้ำใจ ชุมชนศีรษะอโศก กล่าวว่า พวกเราได้ข่าวว่าจะมีกลุ่มชาวบ้านพากันมาชุมนุมขับไล่ในครั้งนี้ก็ได้เตรียมการป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ โดยการนำเอาลวดหนามและตาข่ายมากั้นไว้เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มชาวบ้านบุกรุกไปในเขตศีรษะอโศกได้ และได้มีกลุ่มการ์ดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจาก กรุงเทพฯ จำนวนหนึ่งมาช่วยรักษาความปลอดภัยด้วย
“โชคดีไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งหากกลุ่มชาวบ้านเข้ามาเจรจาขอให้กลุ่มพวกตนออกไปจากที่สาธารณะประโยชน์ ก็สามารถเจรจากันได้ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด” นางเริญ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บรรดาผู้นำท้องถิ่นและนักการเมืองที่เกณฑ์ชาวบ้านหลายหมู่บ้านใน ต.กระแชง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ออกมาชุมชนครั้ง นี้ เป็นกลุ่มหัวคะแนนของ “นายธีระ ไตรสรณกุล” ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 3 พรรคพลังประชาชน (พปช.) ซึ่ง อ.กันทรลักษ์ เป็นฐานเสียงสำคัญอีกพื้นที่หนึ่งของนายธีระและมีรายว่า นายชูวิทย์ (กุ่ย) พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.เขต 2 อุบลราชธานี พรรค พปช. มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังการปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ นายทองสี พิมาทัย ผู้ใหญ่บ้านกระแชงหมู่ 1 ต.กระแชง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง กล่าวถึงสาเหตุที่ออกมาชุมนุม ว่า ที่ชาวบ้าน ต.กระแชง ออกมาชุมนุมกันในครั้งนี้มีข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อคือ
1.ต้องการทวงคืนที่สาธารณะประโยชน์ระมาณ 44 ไร่ ที่ทางชุมชนศรีษะอโศกได้นำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว
2.เพื่อออกมาแก้ต่างกรณีที่ชุมชนศรีษะอโศกได้ออกไปร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตรฯแล้วอ้างชื่อว่าเป็นคนตำบลกระแชง ซึ่งคนบ้านกระแชงรับไม่ได้
และ 3.กรณีสันติอโศกเขียนจดหมายเปิดผนึกกล่าวหาพระสงฆ์ที่ห่มเหลืองเป็นคนชั่วซาตานในคราบนักบวชและพุทธปลอม ซึ่งชาวตำบลกระแชงไม่พอใจเป็นอย่างมาก
สำหรับข้อเรียกร้องที่ 3 นี้ สำนักสันติอโศกเคยออกมาปฏิเสธหลายครั้งแล้วว่า ไม่ได้เป็นคนทำใบปลิวดังกล่าว และคาดว่าเป็นใบปลิวแอบอ้าง เพื่อให้พระสงฆ์ส่วนใหญ่ไม่พอใจสันติอโศกเท่านั้น แต่ก็ยังคงมีการเอาข้ออ้างนี้มาเป็นเหตุผลในการปลุกม็อบด้วย
ขณะที่ นายใส ตาระพันธ์ นายก อบต.กระแชง แกนนำชาวบ้านกลุ่มเสื้อแดงอีกคน บอกว่า เดิมที่สาธารณะประโยชน์แห่งนี้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันมานานแล้ว ต่อมาได้มีกลุ่มศีรษะอโศกเข้ามายึดครองใช้ประโยชน์ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา ทำให้ชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งชาวบ้านในเขต ต.กระแชงทุกคนต้องการนำเอาที่สาธารณะประโยชน์ซึ่งกลุ่มศีรษะอโศกยึดครองอยู่จำนวน 44 ไร่ 71 ตาราวา มาใช้เป็นสถานที่ในการก่อสร้างศูนย์อนามัยของ ต.กระแชง รวมทั้งสร้างสนามกีฬาเพื่อให้เยาวชนได้เล่นกีฬาเพื่อห่างไกลยาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาล
“ได้เคยเจรจากับผู้นำกลุ่มศีรษะอโศกแล้วแต่ว่าไม่เป็นผล ทำให้กลุ่มชาวบ้านทั้ง 20 หมู่บ้านในเขต ต.กระแชง และตำบลอื่น ๆ พากันออกมารวมเรียกร้องทวงคืนที่สาธารณะประโยชน์ในครั้งนี้” นายใส กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า การชุมนุมดังกล่าว จ.ส.อ.เกริกชัย ผ่องแผ้ว ปลัดอาวุโส รักษาการนายอำเภอกันทรลักษ์ ได้มาพบกับกลุ่มนปช.และได้รับหนังสือข้อเรียกร้อง โดยแจ้งให้กลุ่ม นปช.ทราบว่าจะนำเอาหนังสือข้อเรียกร้องนี้เสนอไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อให้ดำเนินการพิจารณาอย่างเร่งด่วน คาดว่าจะทราบผลได้ภายใน 15 วัน ทำให้ชาวบ้านกลุ่มนปช.ที่มาชุมนุมพอใจและพากันเดินทางกลับในวันเดียวกัน ท่วมกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) เข้ารักษาความสงบเรียบร้อยกว่า 300 คน