เชียงราย – ผบก.เมืองพ่อขุนฯ เรียกผู้กำกับทุก สภ.หารือวันนี้หวังหาทางออกปัญหาเงินค้างจ่ายค่าข้าวของชาวนาในพื้นที่ สกัดม็อบเกษตรกรประท้วงปิดถนน วางแนวให้ “โรงสีศิริภิญโญ” จ่ายเงินที่เหลือภายใน 15 วัน ไม่เช่นนั้นเตรียมยัดข้อหา “ฉ้อโกง” ทันที ด้าน ธ.ก.ส.ชี้ราคาข้าวและพืชผลเกษตรหลายชนิดร่วงหลังวิกฤตการเงินสหรัฐฯ แนะเกษตรกรควรวิเคราะห์และหาตลาดก่อนปลูก
รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงรายแจ้งว่า พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ร่วมกับนายไพบูลย์ ขันธบุญ หัวหน้าสำนักงานการค้าภายในจังหวัดเชียงราย,ผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดเชียงราย ต้องเข้าหารือกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจากหลายอำเภอ เช่น อ.พาน, อ.ป่าแดด, อ.แม่สรวย ราว 200 คน นำโดย นายจิรายุ เผ่ากา, นายนายสรวิศ ดวงวรรณา แกนนำเกษตรกรจาก อ.พาน ณ ห้องประชุมดุรงควิบูลย์ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เมื่อ 20 ต.ค.51 ที่ผ่านมา
เนื่องจากกลุ่มเกษตรกร ได้ทำหนังสือร้องทุกข์ขอให้นายไตรสิทธิ์ สินสมบูรณ์ทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ช่วยเหลือด่วน จากการที่กลุ่มเกษตรกรขายข้าวเปลือกเหนียวนาปรังให้กับโรงสี ศิริภิญโญ จ.ฉะเชิงเทรา ตามแนวทางการช่วยเหลือของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รมว.พาณิชย์ (ขณะนั้น) และนายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เดือนมิถุนายน 2551 ในราคาตันละ 8,000 บาท และโรงสีศิริภิญโญ นำข้าวเปลือกเหนียวนาปรังไปค้ำประกันเงินกู้จากรัฐบาล ได้วงเงินไปแล้ว 288 ล้านบาท แต่ค่าข้าวที่ต้องชำระให้ชาวนาในภาคเหนือรวมแล้วราว 340 ล้านบาท จึงทำให้โรงสีต้องขอค่าชดเชยจากรัฐบาล อีก 45 ล้านบาท แต่ในส่วนค่าชดเชยยังไม่ได้รับ
โดยที่ผ่านมามีการทยอยจ่ายเงินให้เกษตรกรผ่าน ธกส.มาหลายเดือน แต่หยุดลงในเดือน ตุลาคม 2551 โดยโรงสียังค้างเงินค่าข้าวที่ต้องจ่ายให้เกษตรกร จ.เชียงราย 507 ราย รวมวงเงินที่เหลือทั้งหมด 25,850,743 บาท และเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ 7,000,000 บาทเศษ หรือรวมแล้ว 33 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรเดือดร้อนมาก ต้องแบกรับภาระหลายอย่าง
และในช่วงเย็นวันเดียวกัน ตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่ จะเดินทางไป กทม.เพื่อร่วมหารือกับตัวแทน รมว.พาณิชย์ ที่กระทรวงพาณิชย์ในวันนี้ (21 ต.ค.)
ทั้งนี้ เกษตรกรทั้งหมดทราบว่า โรงสีศิริภิญโญได้เสนอขอรัฐบาลให้ช่วยเงินค่าชดเชยจากรัฐ 45 ล้านบาท โดยอ้างว่า ขาดทุนจากการซื้อข้าวเปลือกเหนียวนาปรังที่รัฐบาลมาชักชวนให้ซื้อ เนื่องจากมีค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายปลีกย่อยหลายอย่าง แต่เนื่องจาก ครม.ยังไม่อนุมัติเงินส่วนนี้ทำให้โรงสีไม่มีเงินมาจ่าย ทั้งต้องแบกรับภาระนี้เกือบ 50 ล้านบาท ส่วนข้าวนาปีขณะนี้รัฐบาลจัดโครงการรับจำนำ ราคาสูงสุดตันละ 12,000 บาท จึงคิดว่าไม่มีปัญหา
พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในวันนี้ (21 ต.ค.)จะเรียกผู้กำกับการแต่ละพื้นที่มาหารือกันว่าหากไม่มีการจ่ายเงินให้กับเกษตรกร จะมีการดำเนินคดีกับโรงสีในข้อหาฉ้อโกงได้อย่างไรและให้เวลา 15 วันในการแก้ไขปัญหาให้จบ คาดว่าจะหาทางช่วยเกษตรกรได้ เพราะไม่ต้องการให้มีการปิดถนนประท้วงกันอีกต่อไป
แหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส.เชียงราย กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวในตลาดโลกตกลงต่อเนื่อง จากในช่วง 6 เดือนก่อน ราคาข้าวเจ้า มีการซื้อขายตันละกว่า 14,000 บาท ขณะนี้ราคาร่วงลงมาเหลือตันละ 11,000 บาท ส่วนข้าวเหนียว ราคาซื้อขายตันละ 9,000 บาท ขณะนี้ร่วงลงมาเหลือตันละ 6,000 บาท ซึ่งจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่ประสบปัญหาจากวิกฤตสถาบันการเงินประเทศสหรัฐอเมริกา ลามมายังยุโรป และเอเชีย เชื่อว่า จะทำให้ราคาสินค้าเกษตร ไม่น่าจะสดใสในปี 2552 นี้ จึงอยากเตือนให้เกษตรกร ที่คิดจะเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพด ยางพารา หรือพืชอื่นๆ หาตลาดให้ชัดเจนก่อน เพราะเชื่อว่า ราคาพืชหลายชนิดจะปลูกแล้วจะไม่มีกำไร ซึ่ง ธกส.มีการติดตามดูแลเกษตรกรและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด