xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งเดียวในไทย “ปราสาทต้นเงิน” ทำบุญวันออกพรรษาไทยเชื้อเขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - ขณะที่ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา กำลังคุกรุ่นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนตามแนวชายแดนหลายจุด แต่ชาวบ้านน้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี ชุมชนเขมรโบราณในไทย ก็พร้อมใจกันแห่ปราสาทต้นเงินทำบุญในเทศกาลออกพรรษาอย่างครึกครื้น เพราะเป็นประเพณีเดียวในประเทศไทย ที่ชาวชุมชนยืดถือปฏิบัติมานานหลายร้อยปี

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดอุบลราชธานี ว่า ที่บ้านน้ำขุ่น ต.ตาเกา อ.น้ำขุ่น นายวิบูลย์ กาดแก้ว ปลัดอาวุโสอำเภอน้ำขุ่นร่วมกับชาวบ้านน้ำขุ่นกว่า 800 คน จัดประเพณีแห่ปราสาทต้นเงินเข้าวัดทำบุญในเทศกาลออกพรรษา โดยมีการสมโภชด้วยขบวนนางรำตามศิลปะขอมโบราณ ก่อนเคลื่อนขบวนแห่ โดยนำพระภิกษุขึ้นเสลียงแบกด้วยกำลังชาวบ้านเป็นขบวนนำหน้า ตามด้วยขบวนปราสาทต้นเงิน

ซึ่งทำเป็นเสลียงที่มีทั้งแบบโบราณและแบบประยุกต์คือ แบบโบราณจะมียอดฉัตรไล่ลงมาถึงฐานที่จำลองเหมือนตัวปราสาทขอมรวม 3 ชั้น และทุกชั้นของตัวปราสาทต้นเงินชาวบ้านที่ศรัทธา จะนำด้ายสายสินญ์ใช้อธิฐานผูกตามจุดสำคัญ และตามจุดต่างๆจะประดับด้วยเงินทั้งแบบธนบัตรและที่เป็นเหรียญ

ส่วนแบบประยุกต์จะทำเป็นบ้านแบบชั้นเดียว แต่ปราสาทต้นเงินทั้งสองแบบภายในจะบรรจุของใช้และอาหารที่จะนำไปถวายแด่ภิกษุสงฆ์ในเทศกาลออกพรรษา ระหว่างการเคลื่อนขบวนที่มีขบวนพระภิกษุนำหน้า ก็ตามด้วยขบวนฟ้อนรำและขบวนรื่นเริงของชาวบ้าน ซึ่งล้วนมีความหมายถึงการดำรงชีวิตประจำวัน

ทั้งการใช้แห ใช้สวิงจับปลาไปตามพื้นถนน เมื่อขบวนไปสิ้นสุดที่วัดประจำหมู่บ้าน ก็จะนำปราสาทต้นเงินถวายให้แก่วัด เพื่อนำปัจจัยไทยทานใช้ทำนุบำรุงพุทธศาสนาต่อไป

นายณรงค์ศักดิ์ โลเตี๊ยะนันท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตาเกากล่าวว่า ประเพณีแห่ปราสาทต้นเงินเข้าวัดของชาวบ้านน้ำขุ่น เป็นวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายเขมร หรือขอมโบราณที่ได้รับสืบทอดเป็นมรดกกันมานานหลายร้อยปี โดยหลังเทศกาลออกพรรษาไม่เกิน 1 สัปดาห์ ชาวบ้านจะร่วมกันถือปฏิบัติตามประเพณีนี้พร้อมกันทั้งหมู่บ้าน

โดยแต่ละคุ้มในหมู่บ้านจะมารวมกันประดับประดาตัวปราสาทที่ทำจากไม้ด้วยกระดาษเงินกระดาษทอง และนำเงินตามกำลังศรัทธามาติดไว้ตามจุดต่างๆของตัวปราสาท ซึ่งต่อมาเริ่มมีการประยุกต์ให้ขนาดของตัวปราสาทมีขนาดเล็กลงตามยุคสมัย

“แต่ก็พยายามคงรูปแบบในอดีตไว้ให้มากที่สุด เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมความเชื่อทางพุทธศาสนาแบบคนเขมรโบราณ ซึ่งปัจจุบันอาจเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยไว้ให้นานที่สุด”

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตาเกา ยังกล่าวต่อว่า ตนมีความคิดจะนำวัฒนธรรมความเชื่อทางพุทธศาสนาของชาวบ้านน้ำขุ่น ซึ่งกว่าร้อยละ 90 ของหมู่บ้านเป็นคนเขมรเชื้อสายไทย ให้อำเภอและองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ยกขึ้นเป็นประเพณีระดับอำเภอและจังหวัด เพราะวัฒนธรรมเช่นนี้ไม่มีเหลืออยู่แล้ว

“ทุกปีที่มีการแห่ปราสาทต้นเงิน และมีคนต่างถิ่นผ่านมาพบ ก็สร้างความสงสัยและเข้ามาสอบถามเป็นประเพณีอะไร เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน จึงเป็นเรื่องดีที่ภาครัฐจะส่งเสริมเป็นประเพณีที่ควรได้รับการอนุรักษ์ไว้กับสังคมไทย”

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำหรับหมู่บ้านน้ำขุ่นแห่งนี้ ตั้งอยู่ห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชาที่มีเทือกเขาพนมดงรักเป็นพรมแดนกั้นประมาณ 15 กิโลเมตร และเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่ตั้งมาก่อนจะได้รับการยกระดับเป็นอำเภอ รวมทั้งอดีตเป็นที่รู้จักดีของนักค้าอัญมณีมีค่า เพราะมีการขุดพบพลอยและทับทิม แต่ปัจจุบันทางการไม่อนุญาตให้ทำขุดค้นแล้ว



กำลังโหลดความคิดเห็น