ศูนย์ข่าวศรีราชา – นักวิชาการ ชี้ ทางรอดผู้ประกอบธุรกิจภาคอุตสาหกรรมและท่องเที่ยว ในพื้นที่ภาคตะวันออกปี 2552 ต้องยึด 3 กลยุทธ์หลักทั้งศึกษาตัวเลขเศรษฐกิจ และติดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอย่างชัดเจน ปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อรับมือค่าเงินบาทที่อาจเปลี่ยนแปลง และเพิ่มทางเลือกกลุ่มเป้าหมาย หลังวิกฤตการเงินสหรัฐฯและยุโรปจะส่งผลต่อภาคการส่งออกและท่องเที่ยวอย่างหนัก
วันนี้ (9 ต.ค.) บริษัท เอไอเอส จำกัด (มหาชน) ได้จับมือร่วมกับ 7 องค์กรภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หอการค้าไทย หอการค้าจังหวัดชลบุรี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี มหาวิทยาลัยบูรพา ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 และสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (ATSME) จัดให้มีการสัมมนาในโครงการ “พลิกวิกฤตสร้างโอกาสผู้ประกอบการทั่วไทย” ในหัวข้อ ทางรอดทางรุ่งธุรกิจอุตสาหกรรมและท่องเที่ยวภาคตะวันออก 2009 ณ หอประชุมศิลปะและวัฒนธรรมภาคตะวันออก มหา วิทยาลัยบูรพา โดยมีผู้ประกอบธุรกิจภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม รวมถึงภาคธุรกิจต่างๆ และการท่องเที่ยวในจังหวัดชลบุรีและภาคตะวันออก เข้าร่วมกว่า 100 คน
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช กรรมการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม หอการค้าไทย กล่าวถึงอนาคตธุรกิจและเศรษฐกิจของภาคตะวันออกในปี 2009 ว่า ย่อมได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางการเมืองในประเทศและวิกฤตเศรษฐกิจจากการล้มของสถาบันการเงินทั้งในสหรัฐฯและยุโรปที่กำลังลุกลามไปทั่วโลก เช่นเดียวกับภาคเศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดต่างประเทศลดน้อยลง เช่นเดียวกับการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะลดการเดินทางท่องเที่ยว และการเข้ามาในประเทศไทย
ที่สำคัญ สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องเผชิญในปีหน้า คือ ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากแบงก์พาณิชย์จะเข้มงวดเรื่องการปล่อยสินเชื่อมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถผ่านการพิจารณาให้กู้จากแบงก์พาณิชย์ก็ต้องยอมรับกับสภาพดอกเบี้ยที่แพงมาก
นอกจากนั้น การปล่อยเงินกู้ของสถาบันการเงินต่างชาติจะไม่มีให้เห็น เนื่องจากสถาบันการเงินเหล่านี้จะต้องนำเงินออมที่มีกลับไปพยุงสถาบันแม่ในประเทศของตน ดังนั้น อัตราการขยายตัวของยอดเงินออมในปีหน้าจะเป็นไปในทิศทางที่ลดลง ขณะที่ความต้องการเงินกู้กลับมีมากขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องวางแผนบริหารสภาพคล่องทางการเงินของตนให้ดี เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยว ทั้งภาคบริการและโรงแรม ผู้ประกอบการจะต้องยึดกลยุทธ์ สำคัญ 3 ประการ คือ 1.ต้องศึกษาตัวเลขทางเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างชัดเจน 2.ปรับกลยุทธ์ทางเลือกของตลาด หลังตลาดหลักอย่างสหรัฐฯและยุโรปจะมีกำลังซื้อลดลง และยังต้องหาตลาดใหม่รวมถึงรักษาตลาดเดิมที่มีอยู่อย่างตะวันออกกลาง และรัสเซีย และ 3.ต้องวางแผนธุรกิจเพื่อรับมือกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนทางการเงินเพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
“ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปัจจัยที่บั่นทอนเศรษฐกิจของไทย เช่นเดียวกับวิกฤตการเงินในสหรัฐฯและยุโรป ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องทำในปี 2552 ก็คือ จะต้องศึกษาส่วนแบ่งตลาดของตนและรักษาไว้ให้ดี รวมถึงการปรับสภาพคล่องทางการเงินและจะต้องสร้างแบรนด์สินค้าให้ได้เพื่อหาตลาดใหม่ ซึ่งในปี 2552 ภาคการส่งออกจะไม่ใช่พระเอกที่จะทำรายได้ให้กับประเทศเช่นเดียวกับปีนี้ ซึ่งเท่าที่ดูก็จะเห็นได้ว่านับแต่นี้ต่อไปอีก 1 ไตรมาสที่เหลือตัวเลขการส่งออกของเราจะลดลงเรื่อยๆ”
ดร.อัทธ์ ยังเผยถึงภาคการท่องเที่ยวเพิ่มเติมว่า นอกจากผู้ประกอบการในภาคตะวันออก จะต้องพยายามสร้างแพกเกจท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งถือว่า มีกำลังซื้อมากกว่าตลาดคนไทยให้เดินทางเข้าพื้นที่แล้ว จะต้องเพิ่มกลยุทธการตลาดต่างๆ เพื่อสร้างจุดดึงดูดให้ได้ เพราะที่ผ่านมา จังหวัดชลบุรี และพัทยา ได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางการเมืองในประเทศ และวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ ที่เป็นตลาดหลักอย่างเห็นได้ชัด