เลย-ชมรมผู้ประกอบการบริการนักท่องเที่ยวภูกระดึงไม่เห็นด้วยกรมอุทยานฯ เปิดให้เอกชนเช่าบริหาร หวั่นกระทบการทำมาหากินของผู้ค้ารายย่อย ที่เป็นชาวบ้านรอบภู ย้ำข้ออ้างเพื่อแก้ปัญหาขยะ-ระบบนิเวศฟังไม่ขึ้น ชาวบ้านร่วมมือดูแลเป็นอย่างดีมาหลายสิบปี
อุทยานแห่งชาติภูกระดึง หนึ่งในอุทยานที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศเปิดเป็นอุทยานแห่งชาติ 10 แห่ง นำร่องให้เอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่จัดการบริหาร โดยทางกรมฯ อ้างว่า มีนักธุรกิจหลายรายเสนอแผนจัดการอุทยานแห่งชาติ โดยต้องการเข้ามาบริหารจัดการ และให้ความเห็นว่า แต่เดิมที่ทางกรมฯ กำหนดราคาค่าเช่าพื้นที่เพื่อบริการตารางเมตรละ 30 บาท หรือไร่ละ4.8 หมื่นบาทต่อเดือน เอกชนมองว่าเป็นราคาที่สูงเกินไป ขอต่อรองให้ลดราคาลงเหลือแค่ตารางเมตรละ 3 บาท
สำหรับแผนการเปิดให้เอกชนเข้าเช่าพื้นที่บริหารจัดการ ได้กำหนดเงื่อนไขเบื้องต้น เช่น จะเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารในโซนบริการนักท่องเที่ยวแบบครบวงจร ประกอบด้วย ศูนย์อาหาร ร้านขายของที่ระลึก รีสอร์ต โรงแรม โดยมีอายุสัมปทาน 30 ปี มีเงื่อนไขว่าต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และปลูกป่าเพิ่มเติม
อีกทั้งมีประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฉบับลงวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ด้วยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ทำการศึกษาและประเมินความสามารถในการรองรับได้ของอุทยานแห่งชาติ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากการท่องเที่ยว
โดยเฉพาะในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวจำนวนมาก จนอาจนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ยากแก่การฟื้นฟูและบริหารจัดการให้คงสภาพเดิมได้ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติ ตลอดจนการดูแลรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว จึงควรเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหาร
นายสุธรรม ธรรมชาติ บ้านเลขที่ 496 หมู่ 1 ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย ประธานชมรมผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่ม ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง อุทยานแห่งชาติภูกระดึง กล่าวว่า ผู้ประกอบการ ยังไม่ได้รับทราบนโยบายดังกล่าวจากทางอุทยานฯ เพียงรู้มาจากทางสื่อเท่านั้น แต่เมื่อมีการเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าบริหารนั้น ขอให้เพียงมาจัดการเรื่องที่พักเพียงอย่างเดียว อย่าไปแย่งทำกิจการที่ชาวบ้านทำอยู่
ทั้งนี้ เพราะชาวบ้านทำมาหากินเพียงเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างพอเพียงเท่านั้น คงไม่สามารถไปแข่งขันกับนายทุน ที่มีกำลังทรัพย์มากมาย ทางกรมฯต้องกำหนดเงื่อนไขที่แน่นอนว่า สามารถดำเนินธุรกิจ เพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งภายหลังได้
ประธานชมรมฯ ยังให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อกรณีการกำหนดมาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยววันละ 5,000 คนว่า จะส่งผลกระทบต่อสมาชิกที่มีอยู่กว่า 120 ราย มาตรการดังกล่าวไม่เหมาะสมกับภูกระดึง เพราะทั้งปีมีคนมาเที่ยวจำนวนมากๆแค่ 3 วัน ช่วงเดือนธันวาคม ระหว่างวันที่ 5, 10 และ 31 ธันวาคม - 1 มกราคม ซึ่งมีวันหยุดติดต่อกันหลายวันและตรงกับ เสาร์-อาทิตย์ ภูกระดึงมีศักยภาพรับนักท่องเที่ยวได้วันละ 13,000 คน การจัดการเป็นไปตามระบบไม่มีปัญหาอยู่แล้ว นักท่องเที่ยวจะหายไป 8,000 คน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ลดลง สภาพเศรษฐกิจก็ตกต่ำซ้ำเติมอยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่เป็นห่วงปัญหาขยะจะล้น ปกติที่ผ่านมาก็มีการจัดการตามระบบ ผู้ประกอบหรือนักท่องเที่ยวรับผิดชอบขยะของตัว นำลงมาทิ้งข้างล่างอยู่แล้ว พวกเราพึ่งพาภูกระดึงหาเลี้ยงครอบครัวอยู่อย่างปกติสุขมานาน และส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ชั้นดีของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีเงินใช้หนี้สม่ำเสมอมาตลอด การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวครั้งนี้ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ วิกฤตการณ์จะตามมามากมาย ผลกระทบจะลุกลามเป็นลูกโซ่
“ที่ผ่านมาในช่วงที่นักท่องเที่ยวมาเยือนในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ในตลาดภูกระดึงจะคึกคักมาก พ่อค้าแม่ค้ามีการสั่งซื้อวัตถุดิบ ทั้งผัก เนื้อสัตว์จากอำเภอชุมแพเพื่อสำรองรองรับนักท่องเที่ยว หากนโยบายกรมฯเปลี่ยนแปลง ต่อไปเศรษฐกิจชุมชนก็จะหยุดชะงัก จึงอยากให้กรมอุทยานแห่งชาติทบทวนนโยบายนี้ ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งเห็นชัดว่าภูกระดึงไม่เหมาะกับมาตรการนี้”