xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตยาเสพติดไม่สิ้น “2 นิคมฯ ลำพูน” ตลาดยาบ้าเฟื่องซื้อได้ใน 30 นาที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – ศูนย์ต่อสู้ยาเสพติด 17 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งวงถกทิศทางปัญหายาเสพติด ชี้ยังมีการนำเข้ายาบ้าจากชายแดน 4 จังหวัดภาคเหนือต่อเนื่อง ทั้งเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก ก่อนกระจายเข้าพื้นที่ชั้นในต่อ พร้อมจับตาพื้นที่รอบ “2 นิคมฯ ลำพูน” ตลาดใหญ่ยาเสพติดที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หลังมีแรงงานต่างถิ่นอยู่อาศัยมากกว่า 100,000 คน ล่าสุดระบาดหนักถึงขั้นสั่งซื้อได้ภายใน 30 นาที

รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงราย แจ้งว่า นายไตรสิทธิ์ สินสมบูรณ์ทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ผู้แทน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ 2552 ณ โรงแรมดุสิตไอแลนด์รีสอร์ท จ.เชียงราย เมื่อ 16 ก.ย.51 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มีนายปราชญา กรองแก้วอารยะ ผู้อำนวยการส่วนกิจการพิเศษ สนผ.สป./รองหัวหน้า สำนักงานศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดกระทรวงมหาดไทย (ศตส.มท.) นำเจ้าหน้า ศตศ. 17 จังหวัดภาคเหนือ, ป.ป.ส. ราว 300 คน เข้าร่วม ซึ่งมีการสัมมนาตั้งแต่วันที่ 15-16 ก.ย.นี้

ในการสัมมนาได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยแต่ละจังหวัดเพื่อนำเสนออุปสรรคปัญหาในการทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้นในอนาคต โดยในการนำเสนอปัญหาพบว่ายาเสพติด เช่น ยาบ้า มีการลักลอบนำเข้าจากแหล่งผลิตประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทางด้าน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก ก่อนกระจายกันไปในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอื่น

ปัญหาในแต่ละจังหวัดที่ เจ้าหน้าที่ ศตส.พบนั้นมีหลายประการ เช่น การที่เจ้าหน้าที่ ศตส.มาจากหลายหน่วยงานทำให้การประสานข้อมูลอาจมีความไม่ต่อเนื่องและขาดประสิทธิภาพ เช่นการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ และฐานข้อมูลที่ต่างคนต่างใช้และต่างทำ บางครั้งจึงพบว่ามีผู้ที่มีบัญชีรายชื่อผู้ค้ายาเสพติด และพ้นโทษออกมากลับมาค้ายาบ้าอีก โดยที่เจ้าหน้าที่นอกพื้นที่ไม่ทราบประวัติมาก่อน

ทั้งนี้ หลายจังหวัดยืนยันว่า ทำการป้องกันปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดได้ผลเกินเป้า แต่ยังพบว่าการสมัครใจมาบำบัดยาเสพติดยังมีน้อย และกลุ่มที่ใช้ยาเสพติด เช่นยาบ้าจะเป็นกลุ่มวัยรุ่น และผู้ใช้แรงงานอายุระหว่าง 19-31 ปี

สำหรับพื้นที่ที่น่าสนใจ คือ จ.ลำพูน ซึ่ง ศตส.จังหวัดลำพูน มีรายงานว่า เนื่องจากมีนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ และศูนย์อุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ทำให้มีแรงงานจากต่างพื้นที่เข้ามาทำงานในนิคมอุตสาหกรรมกว่า 100,000 คน ทำให้เป็นแหล่งขายยาบ้าแห่งใหญ่ให้กับผู้ใช้แรงงานในนิคมฯ ซึ่งถนนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมีมาก จึงง่ายต่อการลำเลียงยาบ้าโดยจักรยานยนต์ไปขายให้แก่ผู้ใช้แรงงานและวัยรุ่นตามบ้านพัก และ หอพัก ในรัศมีรอบนิคมฯ 30 กม. มีปัญหาหลากหลาย

ยาบ้าที่จำหน่ายที่ จ.ลำพูน มาจากชายแดนด้าน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ หรือใกล้เคียง และล่าสุด ทางด้าน จ.ตาก ก็มีการส่งยาบ้ามาขายให้แก่คนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งยาบ้าขณะนี้หาง่ายขนาดที่ว่าหากผู้เสพต้องการภายใน 30 นาที สามารถสั่งซื้อได้ และมีกรรมวิธีในการจ่ายเงิน เช่น โอนผ่านตู้เอทีเอ็ม ทำให้การขยายผลทำไม่ง่าย และพบว่ามีการใช้สารระเหย และกัญชา ตามมาด้วย โดยเจ้าหน้าที่มีการประสานกับทหาร ตำรวจ ในการออกตรวจจุดเสี่ยง เช่น หอพัก สถานบันเทิง ร้านอินเทอร์เน็ต ฯลฯ ตลอด พร้อมมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนเพื่อให้ประชาชนทราบได้ผลดี

เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องการสนับสนุนด้านขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติหน้าที่ และต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา และการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ไม่ทำแบบไฟไหม้ฟาง หรือตามกระแสการเมือง

นายไตรสิทธิ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติด ต้องแก้จากบ้าน วัด โรงเรียน โดยในพื้นที่จะต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ทั้งการหาข่าว บัญชีผู้ค้า ผู้เสพ ต้องทราบละเอียด และที่สำคัญคือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเคยมีบทบาท ปัจจุบันอาจขาดขวัญกำลังใจ จึงต้องหาทางดึงขวัญกำลังใจกลับมา โดยกระทรวงมหาดไทยมีแนวทางในการที่จะให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ดำรงตำแหน่งได้เกินกว่า 60 ปี

ส่วนวัด ก็เป็นศูนย์รวมใจของประชาชนหากประสานงานกับวัดจะได้ประโยชน์มาก ทางด้านครูในโรงเรียนต่างๆก็ให้ช่วยสอดส่องนักเรียน นักศึกษา อย่าให้ตกเป็นเหยื่อของยาเสพติด จะได้ผลมาก และเจ้าหน้าที่ ศตส.ที่ทำงานเกิน 5 ปี และมีผลงาน น่าจะได้รับการพิจารณาความดีความชอบเหมือนเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติงานทางภาคใต้จะเป็นขวัญกำลังใจที่ดีมาก เพื่อรับมือกับปัญหายาเสพติดที่น่าจะรุนแรงมากขึ้น เช่น จังหวัดเชียงราย ขณะนี้พบว่ามีการลักลอบลำเลียงยาบ้ารายใหญ่จำนวนมาก ล่าสุดยึดได้ครั้งละ 1,700,000 เม็ด ในการลำเลียงครั้งเดียว ถือว่าปัญหานี้ใหญ่และอยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง และจะมีการจัดประชุมสัมมนาในภาคอื่นๆต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น