xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.เร่ง “นิคมฯเชียงราย” เสนอ ครม.เดือนหน้ารับมือทุนจีนทะลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พื้นที่รอยต่อของต.สถาน - ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ บนถนนสายเชียงราย-เทิง-เชียงของ จ.เชียงราย ที่กำหนดเป็นพื้นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมเชียงราย
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ – การนิคมฯเดินหน้าปั้น “นิคมฯเชียงราย” ไม่หยุด ตั้งเป้าเสนอ ครม.ภายในเดือนหน้านี้ แม้เสี่ยงวืด หลังเกิดวิกฤตการเมือง ผู้บริหาร กนอ.ย้ำไทยไม่ทำ ไม่มีทางรับมือทุนจีนที่ทะลักเข้าครองพื้นที่ยุทธศาสตร์ตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ได้แน่ พร้อมแจงข้อกังวลผลกระทบ สวล.ยันไม่เกิดแน่ นิคมฯใหม่ไม่รับอุตสาหกรรมหนัก ไม่ง้อทุนจีนฝ่ายเดียว

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมโรงแรมเวียงอินทร์ อ.เมือง จ.เชียงราย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ตามโครงการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสม การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยมี นายไตรสิทธิ์ สินสมบูรณ์ทอง ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธาน นายประสบศิลป์ โชติมงคล รองผู้ว่าการ กนอ.เป็นผู้กล่าวรายงาน และนายสมคิด แก่นวัฒนากุล รองผู้ว่าการ กนอ.ฝ่ายยุทธศาสตร์ เป็นผู้กล่าวปิดการสัมมนา

กนอ.ได้ให้ตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษา คือ บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด นำโดยนายอนุเทพ เชาวนลิขิต ผู้จัดการโครงการนำคณะบรรยายการออกแบบโครงการ ซึ่งได้จัดทำเสร็จแล้ว รวมทั้งบรรยายด้านการตลาด โดย นายภวัต ตั้งตรงจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และ นายกิตติพจน์ เพิ่มพูล ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บรรยายเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังเป็นนักธุรกิจในพื้นที่ รวมทั้งหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ฯลฯ

นายประสบศิลป์ กล่าวว่า ภายใต้แผนปฏิบัติการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน จ.เชียงราย กนอ.ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบศึกษาความเหมาะสม ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อรองรับเส้นทางสาย R3A และสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมไทย-ส.ป.ป.ลาว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 เห็นชอบให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ ต.สถาน-ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ บนถนนสายเชียงราย-เทิง-เชียงของ เนื้อที่ประมาณ 16,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบันได้ศึกษาเสร็จไปในระดับหนึ่งแล้ว ทั้งในด้านสถานที่ตั้ง การออกแบบนิคมอุตสาหกรรม การลงพบปะชุมชน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

นายอนุเทพ กล่าวว่า ตามการศึกษาที่ผ่านมา ได้มีการออกแบบนิคมอุตสาหกรรมเชียงของให้อยู่ติดกับถนนสาย 1020 หรือสายเทิง-เชียงของ ถนนหมายเลข 1174 ซึ่งอยู่ด้านตะวันตก ถนนทางหลวงชนบทและถนนภายในชุมชนหมู่บ้านน้ำม้า มีชุมชนอาศัยอยู่ใกล้เคียง 10 ชุมชน ที่ตั้งมีศักยภาพเป็นโครงข่ายทางหลวงของไทย ที่สามารถเชื่อมกับโครงข่ายเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก ของภูมิภาคโดยเชื่อมกับถนนภายในประเทศเพื่อนบ้านได้ทั้ง ส.ป.ป.ลาว จีน พม่า เวียดนาม หรือภายในประเทศสามารถเชื่อมกับทางหลวงพิเศษระหว่างกรุงเทพฯ-ชลบุรี ท่าเรือแหลมฉบังได้ โดยเฉพาะตรงสะพานข้ามแม่น้ำโขงระหว่าง อ.เชียงของ กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ส.ป.ป.ลาว จึงเป็นโครงข่ายที่สร้างความได้เปรียบอย่างมาก

นายอนุเทพ ย้ำว่า บริเวณที่ตั้งของผังนิคมอุตสาหกรรมเชียงของมีแหล่งน้ำขนาดเล็ก 7 แห่ง ส่วนใหญ่ความจุไม่เกิน 1,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จึงมีโครงการกักเก็บน้ำเอาไว้ 4 แห่ง เพื่อไม่ให้กระทบกับชุมชนที่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำเดิมเพื่อการเกษตร ซึ่งน้ำทั้งหมดจะใช้ป้อนอุตสาหกรรมที่กำหนดเอาไว้ภายใน 7 ชนิด คือ ประกอบชิ้นส่วน คลังสินค้า บรรจุภัณฑ์ แปรรูปสินค้าเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไฮเทค และสิ่งทอบั้นปลาย

ส่วนการกำหนดพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะดำเนินการบนเนื้อที่ 3,130 ไร่ แบ่งเป็น 5 ส่วนคือส่วนที่ 1 สำนักงาน กนอ.ศุลกากรและพื้นที่บริการประมาณ 8 ไร่ ส่วนที่ 2 พื้นที่พาณิชยกรรม และสนับสนุนคนในพื้นที่ 17 ไร่ ส่วนที่ 3 พื้นที่สาธารณูปโภค 600 ไร่ ส่วนที่ 4 พื้นที่นันทนาการ-แนวกันชน และส่วนที่ 5 พื้นที่อุตสาหกรรมและ Free Zone ประมาณ 2,000 ไร่

เฟสแรกจะดำเนินการในส่วนหน้าของโครงการ ห่างจากถนนหมายเลข 1020 ประมาณ 500 เมตรก่อน เพื่อเป็นสถานที่ขนส่งและกระจายสินค้าเนื้อที่ประมาณ 102.6 ไร่ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ พื้นที่สำนักงานส่วนกลาง 7.78 ไร่ สถานีขนส่งและกระจายสินค้าสำหรับให้เช่าหรือขาย 66 ไร่โดยแบ่งเป็น 2 แปลงๆ ละ 33 ไร่ และส่วนรองรับการขยายตัวของสถานีขนส่งและกระจายสินค้า

จากการออกพบกับชาวบ้านชุมชนต่างๆ ใน อ.เชียงของ ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดตั้งนิคมฯ แต่ยังกังวลเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ได้ชี้แจงไปว่า อุตสาหกรรมทั้งหมดจะไม่เน้นการใช้น้ำและก่อให้เกิดมลพิษ ดังนั้น ต่อไปคงจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้เรื่องนี้กันให้มากขึ้น

ด้านนายสมคิด กล่าวว่าโครงการนี้จะต้องเร่งดำเนินการ เพราะถ้า กนอ.ไม่เข้าดำเนินการ ภาคเอกชนอื่นๆ ก็ต้องเข้าไปตั้งโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ กระจายไปตามพื้นที่ ที่เห็นว่าเหมาะสม รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ-การลงทุนที่จะเกิดขึ้นตามการพัฒนาเส้นทางคมนาคม


สำหรับความกังวลด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาดูแล้วไม่น่าจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไม่เน้นอุตสาหกรรมหนักที่ก่อให้เกิดมลพิษ-เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำน้อย ที่ผ่านมากังวลกันก็เพียงมลพิษจากอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ซึ่งโลกปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วมีการนำน้ำเสียไปผลิตเป็นไบโอดีเซล จนผู้ประกอบการต้องแย่งน้ำเสียกันไม่ปล่อยให้ลงสู่แหล่งน้ำด้วยซ้ำ

นายอรรถพล จิระวัฒน์ ผู้อำนวยการยุทธศาสตร์ กนอ.กล่าวว่า ถ้าไม่ดำเนินการใดๆ เลยเราก็ไม่อาจหยุดยั้งการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนจากจีนที่ถาโถมลงมาอยู่แล้ว ดังนั้น เราจึงต้องจัดตั้งเพื่อรองรับเอาไว้ก่อน จุดประสงค์เพื่อรองรับการเข้าไปลงทุนของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีอยู่แล้วและรองรับการลงทุนตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ของภูมิภาค โดยคงไม่มุ่งให้นักลงทุนจีนเข้าไปแต่เพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไป เพราะระยะแรกจะเน้นเป็นศูนย์กระจายสินค้า และลอจิสติกส์ก่อนจากนั้นค่อยๆ ขยายเป็นภาคอุตสาหกรรมเต็มตัวต่อไป

นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า ทราบมาว่าบริษัทที่ปรึกษาก็ยังไม่มีการออกไปพบปะกับชุมชนในพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดที่ไม่ได้อยู่ใกล้สถานที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมจึงกังวลกันว่า จะถูกต่อต้านเหมือนกรณีเคยจะจัดตั้งที่ ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน เมื่อปี 2547 จนต้องล้มเลิกโครงการมาแล้ว จึงอยากให้ออกไปพบปะให้ครบถ้วนเพื่อไม่ให้มีปัญหาอีก

รายงานข่าวแจ้งว่า กนอ.และบริษัทที่ปรึกษาจะจัดการสัมมนาเป็นครั้งที่ 2 ในเดือนตุลาคม 2551 นี้ที่กรุงเทพฯ จากนั้นจะสรุปผลเพื่อจัดทำเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ภายในเดือนเดียวกัน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาอนุมัติดำเนินการจัดตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังกังวลในความมั่นคง และการให้ความสนใจของรัฐบาลที่อยู่ในสภาพมีความวุ่นวายทางการเมืองขณะนี้อยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น