ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน จากสถานบันการศึกษาในเชียงใหม่ ร่วมเสวนาบทบาทสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ย้ำ สื่อต้องทำหน้าที่อย่างอิสระ ตรงไปตรงมา เป็นธรรม ปราศจากอคติและรับผิดชอบ โดยอย่าให้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน มาเป็นอุปสรรคในการทำหน้าที่ พร้อมแนะเปิดพื้นที่ส่วนกลางให้ทุกฝ่ายร่วมนำเสนอทางออก ขณะเดียวกัน จี้รัฐอย่าใช้ NBT เป็นเครื่องมือให้ร้ายประชาชน และเอื้อประโยชน์ให้เฉพาะฝ่ายตัวเอง
วันนี้ (4 ก.ย.) ที่ห้องประชุมวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะการสื่อสารมวชน และวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการเสวนาวิชาการเรื่อง “บทบาทสื่อสารมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง : ทางออกฝ่าวิกฤต” เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชน
หลังจากเกิดเหตุปะทะกันระหว่างกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งหลายฝ่ายเกรงว่าอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อที่อาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้
รองศาสตราจารย์ สดศรี เผ่าอินจันทร์ คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในการปาฐกถาเปิดการเสวนาครั้งนี้ ว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งเวลานี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สื่อสารมวลชนจะต้องทำหน้าที่อย่างอิสระ ตรงไปตรงมา กล้าหาญ เป็นธรรมปราศจากอคติและต้องมีความรับผิดชอบ
ทั้งนี้ แม้จะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพมหานคร แต่ก็อย่าได้ปล่อยให้ พ.ร.ก.ดังกล่าวมาเป็นอุปสรรค ในการทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบ อย่างตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง
ด้านอาจารย์ศรีธรณ์ โรจนสุพจน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ แสดงความเห็นว่า การทำหน้าที่ของสื่อในสถานการณ์ปัจจุบันไม่ควรจะมีแค่เพียงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของแต่ละฝ่ายที่มีความขัดแย้งกันเท่านั้น เพราะอาจจะเหมือนเป็นการยั่วยุหรือเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ ทั้งนี้ เสนอว่า สื่อควรมีการจัดสรรพื้นที่กลาง สำหรับการนำเสนอข่าวสารหรือความคิดเห็น เพื่อช่วยกันหาทางออกให้กับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้มากกว่า
ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ รองคณบดี คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ เกิดจากความคิดเห็นที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงของคนในสังคม ซึ่งไม่ใช่ความแตกต่างที่เกิดจากอุดมการณ์ แต่เป็นเรื่องของวิธีคิดที่แตกต่างกัน
บทบาทของสื่อในสถานการณ์เช่นนี้ อยากเรียกร้องให้สื่อมีการนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน และมีการคัดกรองอย่างดี ไม่ใช่แต่เพียงแค่เอาสองฝ่ายมาพูดคุย หรือให้ความเห็นเท่านั้น แต่จะต้องทำให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย
นอกจากนี้ รองคณบดี คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการทำหน้าที่ของสถานีโทรทัศน์ NBT ว่า หากรัฐใช้ NBT เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐยังพอเป็นสิ่งที่สามารถยอมรับได้ แต่การที่รัฐใช้ NBT เพื่อให้ร้ายประชาชนนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ทั้งนี้ รัฐควรจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้สื่อ ไม่ใช่ใช้สื่อเหมือนกับไม่รู้กติกา ซึ่งเมื่อมีการใช้สื่อของรัฐไปในทางยั่วยุแล้ว ก็ย่อมเป็นความรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรนพ ลิมปนารมณ์ อาจารย์คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้งดังเช่นในเวลานี้นั้น นอกจากการที่สื่อจะนำเสนอข่าวเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ยังควรที่จะต้องนำเสนอข้อมูลที่มาที่ไปกว่าที่จะนำมาสู่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย เพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่ประชาชนได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน การทำหน้าที่ของสื่อจะต้องยืนอยู่บนความรับผิดชอบ และมีจรรยาบรรณ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันสื่อด้วย แทนที่จะเป็นผู้ถูกชี้นำอย่างเดียว
ผศ.อรรนพ ยังได้กล่าวถึงกรณี NBT ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า รัฐใช้เป็นเครื่องมือในช่วงเวลานี้ว่า การที่แต่ละฝ่ายมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันแล้วพยายามที่จะใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการรายงานข่าวไปตามความเชื่อของฝ่ายตัวเองนั้นไม่เป็นไร แต่ในกรณีที่รัฐใช้ NBT เป็นเครื่องมือในการนำเสนอข่าวให้แก่ฝ่ายตนเองนั้น ก็น่าตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการฉกฉวยเอาสมบัติที่เป็นของส่วนรวมไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่ เปรียบเสมือนกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐ นำรถยนต์ของทางราชการไปใช้ส่วนตัวนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้ เพราะ NBT เป็นสื่อของรัฐแตกต่างจาก ASTV ที่เป็นสื่อเอกชน